อย. เผยมาตรการกำกับดูแลอาหารดัดแปรพันธุกรรม (GMOs) ขณะนี้มีการกำหนดให้แสดงฉลาก และการห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย กรณีพบความไม่ปลอดภัย พร้อมตรวจเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายตามสถานที่จำหน่ายต่าง ๆ รวมทั้งอยู่ระหว่างจัดทำร่างกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ประเมินความปลอดภัยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และกำหนดการแสดงฉลากครอบคลุมพืช สัตว์ และจุลินทรีย์ที่นำมาใช้เป็นอาหารด้วย
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการแสดงฉลากอาหารดัดแปรพันธุกรรม (GMOs) หรืออาหารจีเอ็มโอ เพื่อประโยชน์ต่อผู้บริโภคนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่งสำหรับข้อแนะนำดังกล่าว ซึ่งจะได้มีการนำไปประกอบการพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ในปัจจุบัน อย. มีมาตรการกำกับดูแลอาหารที่ได้จากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรม โดยกำหนดให้แสดงฉลากเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้บริโภคตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 251) พ.ศ. 2545 เรื่อง การแสดงฉลากอาหารที่ได้จากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรมหรือพันธุวิศวกรรม ซึ่งกำหนดให้ข้าวโพดและถั่วเหลืองดัดแปรพันธุกรรมและผลิตภัณฑ์ดังกล่าว จำนวน 22 รายการ ที่มีสารพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) หรือโปรตีนที่เป็นผลจากการดัดแปรพันธุกรรม ตั้งแต่ร้อยละ 5 ขึ้นไปของแต่ละส่วนประกอบหลัก 3 อันดับแรก และมีปริมาณตั้งแต่ร้อยละ 5 ของน้ำหนักผลิตภัณฑ์ ต้องมีการแสดงฉลาก และห้ามแสดงข้อความที่มีความหมายว่าไม่มีส่วนผสมของอาหารดัดแปรพันธุกรรม โดยมีผลบังคับใช้ ตามกฎหมายตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2546 โดยให้ใช้เฉพาะถั่วเหลืองและข้าวโพดดัดแปรพันธุกรรมที่ผ่านการประเมินความปลอดภัย รวมทั้งยังมีประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย กรณีตรวจพบวัตถุดิบที่ไม่ผ่านการประเมินค่าความปลอดภัยด้วย โดยตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 – 2561 อย. ได้มีการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์อาหารจีเอ็มโอ ณ สถานที่จำหน่ายในกรุงเทพมหานคร ปีละ 300 ตัวอย่าง รวม 900 ตัวอย่าง พบผลิตภัณฑ์ไม่เป็นไปตามกฎหมาย รวม 30 ตัวอย่าง และได้ดำเนินการติดตามตรวจสอบให้เป็นไปตามกฎหมายต่อไป นอกจากนี้ อย. ได้มีการพิจารณาทบทวนกฎหมาย เพื่อจัดทำ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 2 ฉบับ เกี่ยวกับอาหารที่ได้จากสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม โดยมุ่งเน้นการประเมินความปลอดภัยของอาหารจีเอ็มโอ ซึ่งได้กำหนดหลักเกณฑ์ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและขยายขอบข่ายให้ครอบคลุมพืช สัตว์ และ จุลินทรีย์ที่นำมาใช้เป็นอาหารหรือผลิตอาหาร รวมทั้งยังได้กำหนดอาหารที่มีส่วนประกอบของ GMOs ต้องแสดงฉลากเพื่อเป็นข้อมูลให้กับผู้บริโภค โดยขณะนี้ (ร่าง) ประกาศฯ ดังกล่าว อยู่ในระหว่างการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการ ซึ่งมีผู้แทนจากหลายภาคส่วน รวมทั้งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อให้ข้อคิดเห็นในการพิจารณาปรับแก้ไขกฎหมายดังกล่าวด้วย
นายแพทย์พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวในตอนท้ายว่า อย. ยังได้ศึกษามาตรการกำกับดูแลอาหารจีเอ็มโอในประเทศ ต่าง ๆ ซึ่งกำหนดให้มีการประเมินความปลอดภัย และมาตรการแสดงฉลากเพื่อให้ข้อมูลกับผู้บริโภค โดยส่วนใหญ่จะใช้การแสดงข้อความว่า “ดัดแปรพันธุกรรม” กำกับไว้ที่ชื่อหรือส่วนประกอบของอาหาร เช่น สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เป็นต้น สำหรับสหรัฐอเมริกากำหนดให้แสดงเป็นข้อความหรือสัญลักษณ์ มีเฉพาะประเทศบราซิลกำหนดให้แสดงสัญลักษณ์ ซึ่งจะได้นำมาใช้ประกอบการพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ ผู้บริโภคควรสังเกต หากมีวัตถุดิบที่มีส่วนผสมของข้าวโพดดัดแปรพันธุกรรมหรือถั่วเหลืองในปริมาณตั้งแต่ร้อยละ 5 ของน้ำหนัก ผลิตภัณฑ์นั้นจะต้องแสดงข้อความกำกับว่า “ดัดแปรพันธุกรรม”กำกับไว้ที่ชื่อหรือส่วนประกอบของอาหาร หากพบเห็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้แสดงข้อความดังกล่าว สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556