ดีเดย์!! 15 มิ.ย. 67 กรมประมงประกาศ “ปิดอ่าวไทยรูปตัว ก” ในพื้นที่ 8 จังหวัดฝั่งอ่าวไทยตอนใน

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง  กล่าวว่า กรมประมงประกาศใช้มาตรการปิดอ่าวไทยรูปตัว ก ประจำปี 2567 เพื่อฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ ด้วยการปกป้องและคุ้มครองให้สัตว์น้ำสามารถเจริญเติบโตมีความสมบูรณ์เพศ พร้อมผสมพันธุ์วางไข่เป็นสัตว์น้ำรุ่นต่อไป โดยแบ่งพื้นที่และระยะเวลาในการบังคับใช้มาตรการออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 : ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน – 15 สิงหาคม 2567 ในพื้นที่จับสัตว์น้ำอ่าวไทยตอนใน ฝั่งตะวันตก บางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร โดยเริ่มจากอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และสิ้นสุดที่อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร และ ช่วงที่ 2 : ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม – 30 กันยายน 2567 ในพื้นที่จับสัตว์น้ำอ่าวไทยตอนใน ด้านเหนือ บางส่วนของจังหวัดสมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี โดยเริ่มจากอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร และสิ้นสุดที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

โดยอนุญาตให้ใช้เฉพาะเครื่องมือประมงบางชนิด ดังนี้

1. อวนลากแผ่นตะเฆ่ที่ใช้ประกอบกับเรือกลลำเดียว ขนาดต่ำกว่า 20 ตันกรอส ให้สามารถทำการประมงได้เฉพาะในเวลากลางคืนและบริเวณนอกเขตทะเลชายฝั่ง

2. อวนติดตาปลาที่ใช้ประกอบเรือกล ขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส และมีขนาดช่องตาอวนตั้งแต่ 5 เซนติเมตรขึ้นไป ความยาวอวนไม่เกิน 2,000 เมตร ต่อเรือประมง 1 ลำ ทั้งนี้ ห้ามทำการประมงโดยวิธีล้อมติด หรือวิธีอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน

3. อวนติดตาชนิด อวนปู อวนกุ้ง อวนหมึก

4. อวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกหมึก ที่ใช้ประกอบกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) ให้ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง

5. ลอบปูที่มีขนาดตาอวนโดยรอบตั้งแต่ 2.5 นิ้วขึ้นไป และใช้ทำการประมงไม่เกิน 300 ลูก ต่อเรือประมง 1 ลำ ให้ทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่งได้

6. ลอบปูที่มีขนาดช่องตาท้องลอบ ตั้งแต่ 2.5 นิ้วขึ้นไป  ให้ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง

7. เครื่องมือลอบหมึกทุกชนิด

8. ซั้งทุกชนิดที่ใช้ประกอบการทำประมงพื้นบ้านในเขตทะเลชายฝั่ง

9. เครื่องมือคราดหอย โดยต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯ ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดเครื่องมือทำการประมง รูปแบบ และพื้นที่ทำการประมงของเครื่องมือประมงคราดหอย ที่ห้ามใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำร่วมด้วย

10.เครื่องมืออวนรุนเคย โดยต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯ ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดเงื่อนไข เกี่ยวกับรูปแบบของอวน ขนาดของเรือ วิธีที่ใช้ บริเวณพื้นที่ และระยะเวลาในการทำการประมงที่ผู้ทำการประมงด้วยเครื่องมืออวนรุนเคยที่ใช้ประกอบเรือยนต์ทำการประมงต้องปฏิบัติร่วมด้วย

11. จั่น ยอ แร้ว สวิง แห เบ็ด สับปะนก ขอ ลอบ ฉมวก

12. เครื่องมืออื่นใดที่ไม่ใช้ประกอบเรือกลขณะทำการประมง

13. เรือประมงที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส ที่ใช้เครื่องยนต์มีกำลังแรงม้าไม่ถึง 280 แรงม้า ประกอบเครื่องมือทำการประมงที่มิใช่เครื่องมือประมง ซึ่งได้แก่ 1) อวนลากคู่ อวนล้อมจับ (มีสายมาน) อวนล้อมจับปลากะตัก คราดทุกชนิด ประกอบเรือกล และเรือประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เรือปั่นไฟ) 2) เครื่องมืออวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกปลากะตัก ที่ใช้ประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) 3) เครื่องมือต้องห้ามทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่ง 14 ชนิด ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯ

สำหรับการใช้เครื่องมือในข้อ 2 3 4 5 6 และ 7 จะต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฯ ที่ออกตามมาตรา 71 (1) และเครื่องมือที่ใช้ทำการประมงต้องไม่ใช่เครื่องมือที่กำหนดห้ามใช้ทำการประมงตามมาตรา 67 มาตรา 69 หรือ มาตรา 71 (1) แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

หากผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษ ปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสามสิบล้านบาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับขนาดของเรือประมง หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า และต้องได้รับโทษทางปกครองอีกด้วย

โดยมาตรการฯ ดังกล่าวกรมประมงมีการประกาศใช้ต่อเนื่องจากการปิดพื้นที่บริเวณอ่าวไทยตอนกลาง (ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มิถุนายน) เพื่ออนุรักษ์ลูกปลาทูที่เกิดใหม่ให้สามารถเจริญเติบโตเป็นปลาทูสาวได้ จากนั้นในช่วงกลางเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม ปลาทูสาวจะเริ่มเคลื่อนตัวเข้าสู่พื้นที่อ่าวไทยตอนใน (อ่าวไทยรูปตัว ก) ฝั่งตะวันตก และเคลื่อนที่เข้าสู่อ่าวไทยตอนในด้านเหนือ ในช่วงเดือนสิงหาคม -กันยายน จนปลาทูมีขนาดเหมาะสมที่จะเป็นพ่อแม่พันธุ์และเริ่มมีไข่ โดยจะเลี้ยงตัวอยู่ในบริเวณอ่าวไทยตอนในจนถึงช่วงปลายปี เมื่อมีความพร้อมที่จะวางไข่จึงจะเริ่มอพยพเคลื่อนตัวลงสู่แหล่งวางไข่ในอ่าวไทยตอนกลางอีกครั้งเป็นไปตามวงจรชีวิตปลาทู

“ขอขอบคุณพี่น้องชาวประมงที่ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามมาตรการฯ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สามารถขับเคลื่อนการบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรให้เกิดความสมดุลกับกำลังการผลิตของธรรมชาติ ดังจะเห็นได้จากผลการจับสัตว์น้ำเฉพาะในพื้นที่อ่าวไทยรูปตัว ก หลังประกาศใช้มาตรการฯ ในปี 2566 ที่มีปริมาณการจับสัตว์น้ำมากถึง 194,502 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 11,240 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีปริมาณการจับสัตว์น้ำเพียง 191,737 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 9,542 ล้านบาท จึงเป็นการยืนยันได้ว่ามาตรการฯ ที่ใช้มีความสอดคล้อง ถูกต้อง และเหมาะสมทั้งในด้านพื้นที่ ช่วงเวลา และเครื่องมือที่มีการอนุญาตให้ใช้ จึงต้องมีการดำเนินมาตรการอย่างต่อเนื่อง เพื่อปกป้องและคุ้มครองทรัพยากรสัตว์น้ำให้ฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ มีการใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดสร้างความมั่นคงให้กับการประกอบอาชีพประมงอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดรับกับเจตนารมณ์ของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า …อธิบดีกรมประมงกล่าว