อย. ขานรับนโยบายนายกฯ ปรับลดขั้นตอนและระยะเวลาการพิจารณาอนุญาต

อย. ขานรับนโยบายประเทศ เพิ่มศักยภาพการให้บริการรูปแบบดิจิทัล (e-Service) ลดขั้นตอนระยะเวลาการพิจารณาอนุญาต และปรับปรุงกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ

วันที่ 14 มิถุนายน 2567 นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาแถลงต่อผู้สื่อข่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เร่งรัดดำเนินการตามนโยบายและข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ปรับปรุงการอนุมัติ/อนุญาตของ อย. 343 กระบวนงาน เป็นกระบวนงาน e-Service แล้ว 331 กระบวนงาน สามารถลดระยะเวลาการอนุมัติ/อนุญาตกว่าร้อยละ 58 และลดการเรียกสำเนาเอกสารจากผู้ประกอบการ อาทิ หนังสือรับรองการจดทะเบียนพาณิชย์ของกระทรวงพาณิชย์ ข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของกรมการปกครอง ปัจจุบันมีผู้เข้าใช้งานระบบแล้ว 261,905 คำขอ หรือเฉลี่ยวันละ 1,261 คำขอ ซึ่งผลิตภัณฑ์อาหารมีกระบวนงานการอนุมัติ/อนุญาต 57 กระบวนงาน เป็นกระบวนงาน e-Service แล้วทั้งหมด โดยอาหารความเสี่ยงต่ำ 34 ประเภท เป็นการอนุญาตแบบอัตโนมัติ (Auto e-permission) ทั้งนี้ ตั้งแต่ธันวาคม 2566 อนุญาตแล้วกว่า 30,000 คำขอ และปรับลดเวลาการจดทะเบียนอาหารไทยยอดนิยม (Soft Power) ที่ปรุงสำเร็จในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท เช่น แกงเขียวหวาน ต้มยำกุ้ง ผัดไทย จาก 78 วันทำการ เหลือ 44 วันทำการ

สำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ ข้อมูลปี 2566 มีมูลค่าการผลิตเครื่องมือแพทย์ที่ได้รับอนุญาตกว่า 31,000 ล้านบาท มีกระบวนงานการอนุมัติ/อนุญาต 62 กระบวนงาน เป็น e-Service แล้ว 61 กระบวนงาน คิดเป็นร้อยละ 98.38 และนำหลักการ Remote Inspection มาใช้ในกรณีที่มีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งสามารถตรวจประเมินสถานที่แบบออนไลน์ (Remote Audit) ทำให้ลดระยะเวลาการอนุญาตสถานประกอบการผลิตเครื่องมือแพทย์จากเดิม 50 วันทำการเหลือเพียง 30 วันทำการ และอนุญาตสถานประกอบการนำเข้าจากเดิม 70 วันทำการ เหลือเพียง 30 วันทำการ

นายแพทย์ณรงค์ กล่าวในตอนท้ายว่า อย. ยังมีการปรับกฎหมาย กฎระเบียบ เพื่อความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ทั้งผลิตภัณฑ์อาหาร ยา และเครื่องมือแพทย์ โดยปรับปรุงแล้วเสร็จ 5 ฉบับ และอยู่ระหว่างดำเนินการ 3 ฉบับ และ อย. ให้ความสำคัญในการพัฒนาระบบการให้บริการอย่างต่อเนื่อง โดยปรับรูปแบบเป็นดิจิทัล ทำให้ผู้รับบริการสามารถเข้าใช้งานได้ทุกที่ ทุกเวลา ลดภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจแก่ผู้ประกอบการ หากมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อกองด่านอาหารและยาได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 0-2590-7000 ต่อ 79918 หรือ email : precer420@gmail.com