นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคเหนือ (เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่และน่าน) โดยสนับสนุนจังหวัดน่านให้เป็นเมืองมรดกโลกเพื่อเป็นเมืองคู่แฝดหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน(สปป.ลาว) ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567 ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (เชียงราย น่าน พะเยาและแพร่) ณ มหาวิทยาลัยพะเยา จังหวัดพะเยา ได้มีมติเห็นชอบโครงการน่านเมืองเก่ามีชีวิต สร้างสรรค์ เมืองแห่งวัฒนธรรมสู่มรดก ซึ่งจังหวัดน่าน โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดน่านเป็นผู้เสนอโครงการนี้
“โครงการน่านเมืองเก่ามีชีวิต สร้างสรรค์ เมืองแห่งวัฒนธรรมสู่มรดก ใช้งบประมาณดำเนินการ 7 ล้านบาท มีโครงการย่อย 2 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการสร้างการรับรู้และความเข้าใจ ประวัติศาสตร์มรดกทางวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดน่านสู่มรดกโลก 2 ล้านบาท ประกอบด้วยการประชุมเพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจและความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของมรดกทางวัฒนธรรมแก่หน่วยงานรัฐ เอกชน ชุมชนและประชาชนในพื้นที่จังหวัดน่าน และจัดทำหนังสือองค์ความรู้มรดกทางวัฒนธรรมของจังหวัดน่านและสื่อเผยแพร่ในระบบออนไลน์ 2.โครงการศึกษาแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมเพื่อขับเคลื่อนจังหวัดน่านสู่มรดกโลก 5 ล้านบาท จะดำเนินการศึกษาแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดน่าน ประเมินคุณค่าและความสำคัญที่โดดเด่นในระดับสากล และรวบรวมองค์ความรู้แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของจังหวัดเป็นเอกสารวิชาการ และประเมินความเชื่อมโยงของแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมเพื่อคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม และสอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐาน ในการนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของจังหวัดน่านเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมต่อองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ซึ่งทั้ง 2 โครงการจะดำเนินการในปี 2567 เพื่อเตรียมความพร้อมในการเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของจังหวัดน่าน เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมต่อยูเนสโก” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าว
นางสาวสุดาวรรณ กล่าวอีกว่า โครงการน่านเมืองเก่ามีชีวิต สร้างสรรค์ เมืองแห่งวัฒนธรรมสู่มรดกโลก เป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมโดยสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดน่าน และกรมศิลปากรกับหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดน่าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเครือข่ายภาคเอกชน ขณะนี้วธ.ได้ตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการเสนอแหล่งโบราณคดีและแหล่งวัฒนธรรมของจังหวัดน่านให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างความเข้าใจและบทบาทหน้าที่ในการขับเคลื่อนโครงการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ และมุ่งสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ เห็นคุณค่าในความสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีของแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดน่านและการมีส่วนร่วมแก่หน่วยงานรัฐ เอกชน ชุมชนและประชาชนจังหวัดน่านในการขับเคลื่อนจังหวัดน่านสู่การเป็นเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรม ทำให้เกิดความภาคภูมิใจ เห็นคุณค่าในมรดกทางวัฒนธรรมและร่วมกันอนุรักษ์ไว้ รวมทั้งเพื่อเตรียมเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของจังหวัดน่านเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมต่อยูเนสโก
“จังหวัดน่านมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ความรุ่มรวยศิลปวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และยังคงมีพื้นที่ที่มีร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีในยุคก่อนประวัติศาสตร์ เคยมีการสำรวจ ขุดค้นและค้นพบข้าวของเครื่องใช้ เช่น เครื่องมือหิน เตาเผาโบราณ บ่อเกลือสมัยโบราณ โครงกระดูกของมนุษย์ยุคโบราณและมีวัดสำคัญต่างๆ นโยบายของนายกรัฐมนตรีมุ่งผลักดันให้จังหวัดน่านเป็นเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรมคู่เมืองหลวงพระบางเพื่อเชื่อมโยงทั้งสองเมือง ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในประเทศไทย ขับเคลื่อน Soft Power ด้านท่องเที่ยว ทำให้ประเทศไทยเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลก เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้แก่ประชาชนและชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าว