“จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้หูดับ ในปี 2562 (ตั้งแต่ 1 ม.ค.–17 ส.ค. 62) มีรายงานผู้ป่วยทั่วประเทศ 265 ราย เสียชีวิต 23 ราย ซึ่งสถานการณ์โรคไข้หูดับในภาพรวมมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 16 รายจากปีที่ผ่านมา จากโปรแกรมตรวจสอบข่าวการระบาด ในปีนี้พบผู้ป่วยโรคไข้หูดับ 60 เหตุการณ์ พบผู้เสียชีวิต 20 เหตุการณ์ โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่อายุมากกว่า 65 ปี อาศัยอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุดคือ อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ แพร่ ตามลำดับ และพบในกลุ่มอาชีพรับจ้างมากที่สุด รองลงมาคือกลุ่มเกษตรกร”
“การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงนี้จะพบผู้ป่วยไข้หูดับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยปัจจัยเสี่ยงที่พบบ่อยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา คือ รับประทานลาบหมูดิบ หรือลาบที่มีส่วนผสมของเลือดดิบ รองลงมาคือการชำแหละหมูสดโดยไม่ใช้อุปกรณ์ป้องกัน สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโรคไข้หูดับ ได้แก่ ผู้ที่สัมผัสกับหมูที่ติดโรคโดยตรง เช่น คนเลี้ยงหมู คนทำงานในโรงฆ่าสัตว์ คนชำแหละเนื้อหมู และคนที่รับประทานเนื้อหมูดิบ เป็นต้น ส่วนกลุ่มที่เสี่ยงจะมีอาการป่วยรุนแรงหากติดเชื้อ ได้แก่ ผู้ป่วยพิษสุราเรื้อรัง ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ไต มะเร็ง หัวใจ ผู้ที่เคยตัดม้ามออก เป็นต้น กรมควบคุมโรค ขอแนะนำวิธีป้องกันโรค ดังนี้ 1.กินหมูสุกเท่านั้น โดยปรุงเนื้อหมูให้สุกทั่วถึงจนเนื้อไม่มีสีแดง และควรเลือกซื้อเนื้อหมูที่ไม่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากโรงฆ่าสัตว์ 2.ผู้ที่สัมผัสกับหมูที่ติดโรค โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล สัตวแพทย์ ควรสวมรองเท้า บู๊ทยาง สวมถุงมือ รวมถึงสวมเสื้อที่รัดกุมระหว่างทำงาน หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง หากประชาชนมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน คอแข็ง หูหนวก ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ภายหลังสัมผัสหมูที่ป่วยหรือหลังกินอาหารที่ปรุงมาจากเนื้อหมูปรุงไม่สุก ให้รีบพบแพทย์ทันทีและแจ้งประวัติการกินหมูดิบให้ทราบ เพราะการวินิจฉัยที่รวดเร็ว จะช่วยลดอัตราการหูหนวกและการเสียชีวิตได้ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422”
ข้อมูลจาก : ทีม SAT / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 24 ส.ค. 2562