เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.67 พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า วานนี้ ได้ให้การต้อนรับนายนิก นัซมี บิน นิก อะฮ์มัด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมประเทศมาเลเซีย ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทย และเข้าคารวะโดยไทยและมาเลเซียมีความผูกพันกันอย่างใกล้ชิด และยาวนาน ทั้งในฐานะเพื่อนบ้านชายแดนติดกันและในฐานะสมาชิกอาเซียน ที่ผ่านมา ได้มีความร่วมมือในด้านต่างๆ รวมถึงความร่วมมือด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งการดูแล ปกป้อง การต่อต้านลักลอบค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย การบริหารจัดการทรัพยากรธรณี การแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน โดยเฉพาะการจัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญระดับโลก ที่หลายประเทศแสวงหาแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
“ในโอกาสดังกล่าวได้มีการหารือหลายประเด็น ที่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างกัน โดยเฉพาะเรื่องปัญหาหมอกควันข้ามแดน ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนของเรา จึงถือโอกาสนี้เชิญนายนิก นัซมี บิน นิก อะฮ์มัด เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการระดับรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม เรื่อง มลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ครั้งที่ 25 โดยประเทศไทยจะเป็นประธานและเจ้าภาพ ในวันที่ 3 ก.ค.นี้ โดยนายนิก นัซมี บิน นิก อะฮ์มัด รับปากที่จะเข้าร่วมการประชุม และเสนอเรื่องการทำเห็นกลุ่ม เพื่อเสนอผู้นำอาเซียนในการแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดนต่อไป” พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าว
พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน นายนิก นัซมี บิน นิก อะฮ์มัด ยังมีความสนใจเกี่ยวกับเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาระบบการรับรองคาร์บอนเครดิต โดยเห็นว่าระบบให้การรับรองคาร์บอนเครดิตของไทย ได้แก่ โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) มีพัฒนาการมากที่สุดในภูมิภาคนี้ และประสงค์จะมีความร่วมมือในการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ด้านนี้ต่อไป นอกจากนี้ ได้แจ้งถึงการวาระเป็นประธานอาเซียนของประเทศมาเลเซียในปี2568 ซึ่งไทยยินดีให้การสนับสนุนการทำงานร่วมกัน ส่วนเรื่องการต่อต้านการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย ไทย มาเลเซีย เตรียมที่จะลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ หรือ MOU โดยฝ่ายไทยได้ส่งร่างให้มาเลเซียแล้ว โดยนายนิก นัซมี บิน นิก อะฮ์มัด รับปากเร่งรัดและส่งกลับให้ไทย เพื่อเตรียมลงนามในการประชุมเดือนหน้าที่จะมาเยือนไทยด้วย ส่วนกรณีธรณีวิทยาสองประเทศมีโอกาสพัฒนาร่วมกันในการทำแร่โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม