สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการการเตรียมความพร้อม ผู้เยี่ยมสำรวจ เพื่อการตรวจประเมินและรับรองคุณภาพระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย(Thai Emergency Medical Service Accreditation : TEMSA) ระหว่างวันที่ 22-23 สิงหาคม 2562 ณ ห้องประชุมแม่น้ำแกรนด์บอลล์รูม ชั้น 2 โรงแรมแม่น้ำ รามาดาพลาซ่า กรุงเทพมหานคร
เรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการ สพฉ. ระบุว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ เป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่มีการเตรียมความพร้อมผู้เยี่ยมสำรวจเพื่อการตรวจประเมินและรับรองคุณภาพระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย (Thai Emergency Medical Service Accreditation : TEMSA) ซึ่งเป็นระบบที่มีแนวคิดการพัฒนา ยกระดับคุณภาพการบริการการแพทย์ฉุกเฉินของหน่วยปฏิบัติการที่อยู่ในระบบของประเทศไทย
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ร่วมกับศูนย์ฝึกอบรมมาตรฐานการบริการด้านสุขภาพระดับสากลแห่งประเทศไทย (TITC) มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์กฎหมายศรีปทุม เพื่อกำหนดและพัฒนา TEMSA ตั้งแต่ ปี 2557 โดยเปรียบเทียบมาตรฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริการการแพทย์ฉุกเฉิน และได้รับการยอมรับในระดับประเทศและระดับสากล มาปรับและพัฒนาหน่วยงานที่ให้บริการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินในประเทศไทย เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้กับผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บ และบุคลากรที่ทำการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ใน ปี 2561 – 2562 ได้มีการจัดทำเกณฑ์การประเมินตนเอง จากการอ้างอิงหลักการและมาตรฐานที่ดำเนินการได้อย่างดีแล้วในต่างประเทศ มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของการแพทย์ฉุกเฉินไทย ผ่านกระบวนการทดลองในพื้นที่นำร่อง การชี้แจง รับฟังความคิดเห็น และประชาพิจารณ์ และปรับปรุงแบบประเมินให้เหมาะสมกับบริบทประเทศไทยและนำมาประชาสัมพันธ์ให้หน่วยปฏิบัติการที่มีอยู่ทั่วประเทศประเมินตนเอง ตั้งแต่ เมษายน 2562 เป็นต้นมา
การเตรียมความพร้อมผู้เยี่ยมสำรวจเพื่อการตรวจประเมินและรับรองคุณภาพระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย (Thai Emergency Medical Service Accreditation: TEMSA) ครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจาก สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจประเมินและรับรองมาตรฐานระดับสากล แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินจากโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป มหาวิทยาลัย รวมถึงโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำของประเทศ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการตรวจประเมินและรับรองมาตรฐาน โดยมีผู้ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ กว่า 80 คน ประกอบด้วย แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน พยาบาลหัวหน้าศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ ผู้รับผิดชอบงานการแพทย์ฉุกเฉินจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และพนักงานสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน มาร่วมระดมสมองและฝึกปฏิบัติในสถานการณ์จำลอง และคาดหวังว่าจะเป็นการพัฒนา ผู้เยี่ยมสำรวจในการตรวจประเมินและรับรองคุณภาพระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย สำหรับการเป็น ครู ก ในปี 2563 และขยายผลผู้เยี่ยมสำรวจให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ในปี 2564
เรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการ สพฉ. กล่าวย้ำอีกว่า สำหรับการประเมินตนเองในระบบ TEMSA เป็นเหมือนแบบประเมินที่ให้หน่วยปฏิบัติการได้ประเมินตัวเองเพื่อการพัฒนาและยกระดับการบริการของหน่วยงานตน อีกทั้งยังจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาระบบที่เอื้อต่อการทำงานให้ตรงตามมาตรฐานที่กำหนด ด้วยเป้าหมายที่มุ่งหวัง ให้ “ผู้ป่วยรอด บุคลากรปลอดภัย สังคมไทยมั่นคง” ผู้ป่วยฉุกเฉินทุกรายสามารถเข้าถึงและได้รับการดูแลรักษาภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ ลดอัตราการเสียชีวิต และทุพพลภาพ ขณะที่หน่วยปฏิบัติการต้องได้รับการสนับสนุนด้านปัจจัยต่างๆ ที่จำเป็นในการที่จะปฏิบัติงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด อาทิเช่น ได้รับการรับรองพาหนะการแพทย์ฉุกเฉิน ได้รับการสนับสนุนเงินชดเชยการปฏิบัติการ ได้รับการรับรองเพื่อขอใบอนุญาตใช้วิทยุสื่อสารจาก กสทช. และได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายรวมถึงสวัสดิการต่างๆ จากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้หน่วยปฏิบัติการ ให้ได้รับการยอมรับยกย่องในการปฏิบัติงาน และเกิดความภาคภูมิใจในวิชาชีพของตน เพื่อให้ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินเป็นระบบที่ได้รับการยอมรับและยั่งยืน อีกด้วย