วันที่ 12 มิถุนายน 2567 นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุม การบริหารจัดการน้ำและเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝน ปี 2567 ในเขตพื้นที่สำนักงานชลประทานที่ 6-8 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ผ่านระบบ VDO Conference โดยมี ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา นายไพฑูรย์ ศรีมุก ผู้อํานวยการสํานักงานชลประทานที่ 6 ดร.จักริน ประเสริฐสุวรรณ ผู้อํานวยการสํานักงานชลประทานที่ 7 นายกิตติธัช เทพหัสดิน ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 นายปกรณ์ สุตสุนทร ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาอุทกวิทยา นายอดิศร จำปาทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาอุทกวิทยา และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อติดตามสถานการณ์ฝนและสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ รวมไปถึงปริมาณน้ำท่าในลุ่มน้ำชี มูล เพื่อวางแผนการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนให้เหมาะสม สามารถช่วยลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด
ทั้งนี้ กรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 6 – 8 ที่คลอบคลุมพื้นที่ภาคอีสาน ได้ปฏิบัติตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 67 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อรับมือสถานการณ์น้ำหลากในแม่น้ำชี-มูล ด้วยการเฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด พร้อมนำสถิติฝนและถอดบทเรียนจากปีที่ผ่านมา มาวางแผนบริหารจัดการน้ำในสถานการณ์ต่างๆ มีการปรับเกณฑ์ควบคุมปริมาณน้ำในอ่าง (Dynamic Operation Curve) ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้น ร่วมกับวางแผนจัดจราจรน้ำตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำอย่างเชื่อมโยงกัน รวมทั้งกำหนดจุดเสี่ยงเฝ้าระวังพร้อมจัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ ให้สามารถเข้าปฏิบัติหน้าที่ได้ทันที ตลอดจนตรวจสอบอาคารชลประทาน และคันกั้นน้ำให้มีความมั่นคง แข็งแรง สามารถใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ และกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอยู่สม่ำเสมอ
ในการนี้ รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้สั่งให้โครงการชลประทานในพื้นที่ลุ่มน้ำชี-มูล ร่วมกันพิจารณาจัดทำแผนพร่องน้ำในลำน้ำชี-มูล อย่างเชื่อมโยงกัน โดยไม่กระทบกับกิจกรรมการใช้น้ำ เพื่อเตรียมรองรับปริมาณฝนที่กำลังจะมาถึง พร้อมกำชับปฏิบัติตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 67 อย่างเคร่งครัดต่อไป