กรมทะเล ชวน สสส. รวมพลังประชาชน ร่วมสรุปผลโครงการวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง เพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการกัดเซาะชายฝั่ง ครั้งที่ 23

วันที่ 12 มิถุนายน 2567 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จัดประชุมสัมมนาสรุปผลโครงการวิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการกัดเซาะชายฝั่ง ครั้งที่ 23/2567 โดยมี ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (อทช.) เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมฯ โอกาสนี้ นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายอุกกฤต สตภูมินทร์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง ผศ.ดร.สมปราถนา ฤทธิ์พริ้ง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายว้าเหตุ ระวังชา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลตลิ่งชัน จังหวัดกระบี่ นางสาวกอบทอง ทอจินดา รองผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านศาลาใหม่ จังหวัดนราธิวาส นางสาวไซตง สุหลง ชุมชนชายฝั่งบ้านปาตา นางสาววิภาพร วัฒนวิทย์ ผู้ประกาศข่าวและผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส เป็นผู้ดำเนินรายการ รวมถึงผู้บริหารจากทั้ง 2 หน่วยงาน ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัด นักเรียน นักศึกษา และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมสัมมนาฯ ณ ห้องประชุมไมดาส 2 โรงแรมไมด้า ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ

ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (อทช.) กล่าวว่า กรมทะเล ได้รับทุนสนับสนุนจาก สสส. โดยมีวัตถุประสงค์สนับสนุนกลไกลการมีส่วนร่วมของประชาชนในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กับการจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง และพัฒนาระบบและเครื่องมือในการตัดสินใจเบื้องต้นบนฐานข้อมูลการเปลี่ยนแปลงชายหาดที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพ โครงการวิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งมีการดำเนินการจัดกิจกรรมในพื้นที่ 18 จังหวัด โดยที่ผ่านมาได้จัดกิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้ทั้งสิ้น จำนวน 22 ครั้ง ได้แก่ จังหวัดตราด จันทบุรี ระยอง ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล และสรุปโครงการฯ ที่ กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้มี ผู้เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้นจำนวน 1,000 คน สรุปการดำเนินโครงการวิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการร่วมจัดทำฐานข้อมูลของชายหาดประเทศไทย ทำให้ประชาชนเกิดความรู้ความเข้าใจ สร้างความตระหนักรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการกัดเซาะชายฝั่ง เรียนรู้ต่อการปรับตัวต่อภัยคุกคามได้อย่างถูกวิธี และสามารถแก้ไขปัญหาไปในทิศทางที่ถูกต้อง อีกทั้งลงพื้นที่ใช้อุปกรณ์การตรวจวัดรูปตัดชายหาด ด้วยระบบเทคโนโลยี Water level ลงในระบบ Beach Monitoring :BMON ได้ข้อมูลชายหาดที่เป็นปัจจุบันส่งเสริมให้ประชาชนเกิดกิจกรรมการรวมกลุ่มเรียนรู้บนพื้นที่ชายหาดซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะ เสริมสร้างความสามัคคี เกิดสุขภาวะในชุมชน สำหรับข้อมูลตรวจวัดชายหาดที่ได้จากประชาชน จะนำไปใช้เป็นฐานข้อมูลชายหาดของประเทศไทยและกำหนดนโยบายในการบริหารจัดการพื้นที่ชายฝั่งได้อย่างประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 ในมาตรา 16 ในเรื่องส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสนับสนุนชุมชนชายฝั่งและองค์ปกครองส่วนท้องถิ่นและสอดคล้องกับนโยบายของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เรื่องส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่น

การจัดงานในวันนี้ เพื่อสรุปผลโครงการดังกล่าว ให้ผู้ที่เคยเข้าร่วมการจัดกิจกรรมได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูล รวมถึงการขยายผลโครงการฯ ตลอดจนรับฟังข้อเสนอแนะหรือสิ่งที่ควรปรับปรุง เพื่อนำเสียงสะท้อนนั้นมาเป็นแนวทางในการพัฒนาการดำเนินงานในอนาคตต่อไป “ดร.ปิ่นสักก์ กล่าวทิ้งท้าย”