รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขไทย และรองรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข สปป.ลาว เปิดประชุมเครือข่ายการแพทย์พื้นบ้านลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 11 ภายใต้แนวคิด “การเอาชนะวิกฤตโรคระบาดโควิด – 19 ด้วยภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ดั้งเดิม” เพื่อเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายในการแก้ไขปัญหาสุขภาพยุคใหม่ ตลอดจนสร้างความร่วมมือเชิงนโยบาย งานวิจัย และคุ้มครองภูมิปัญญา มุ่งสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการในอาเซียน เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นของประชาชน
วันที่ 12 มิถุนายน 2567 ที่โรงแรมรอยัลนาคาราและคอนเวนชั่นฮอล์หนองคาย จ.หนองคาย นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ ดร.ไพวัน แก้วปะเสิด รองรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ร่วมเป็นเจ้าภาพเปิดการประชุมเครือข่ายการแพทย์พื้นบ้านลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 11 ภายใต้แนวคิด “การเอาชนะวิกฤตโรคระบาดโควิด – 19 ด้วยภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ดั้งเดิม” โดย นายสันติ กล่าวว่า ลุ่มแม่น้ำโขง เป็นภูมิศาสตร์ลุ่มน้ำที่กว้างใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ 6 ประเทศ มีกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่จำนวนมาก ซึ่งการแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ชาติพันธุ์ยังคงมีบทบาทในการดูแลสุขภาพ การป้องกันและรักษาโรคในชุมชน นับเป็นแหล่งรวบรวมความรู้และภูมิปัญญาด้านการรักษาพื้นบ้านอันเก่าแก่ยาวนาน โดยปัจจุบัน องค์การอนามัยโลก (WHO) และรัฐบาลหลายแห่งทั่วโลก รวมถึงประเทศจากภูมิภาคล้านช้าง-แม่โขง ตระหนักถึงการนำภูมิปัญญาการแพทย์ดั้งเดิมและการแพทย์พื้นบ้านมาใช้ดูแลสุขภาพประชาชน มีการวางแผนยุทธศาสตร์ด้านการแพทย์ดั้งเดิม (WHO Traditional Medicine Strategy) เพื่อกำหนดแนวทางพัฒนาการแพทย์ดั้งเดิมและการแพทย์เสริมของโลก การประชุมเครือข่ายการแพทย์พื้นบ้านลุ่มน้ำโขงครั้งนี้จึงมีความสำคัญอย่างมาก ในการเชื่อมโยงการแพทย์พื้นบ้านกับวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัย ผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้ ส่งเสริมความร่วมมือ และเสริมสร้างรากฐานภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้าน โดยอาศัยภูมิปัญญาร่วมกันของ 6 ประเทศสมาชิก ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งของเครือข่ายการแพทย์พื้นบ้านในการแก้ไขปัญหาสุขภาพยุคใหม่ ตลอดจนเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและขยายเครือข่ายความร่วมมือเชิงนโยบาย ผลักดันงานวิจัยด้านการแพทย์ดั้งเดิมและการแพทย์พื้นบ้าน มุ่งสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการในอาเซียน เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นสำหรับประชาชนทุกคน
ดร.ไพวัน กล่าวว่า เป็นโอกาสดีที่ได้กลับมาทำงานร่วมกันในระดับภูมิภาค ซึ่งการประชุมเครือข่ายการแพทย์พื้นบ้านลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 11 นี้ จะทำให้ข้าราชการ นักวิชาการ นักวิจัย นักศึกษา หมอพื้นบ้าน และวิชาชีพด้านการดูแลสุขภาพในภูมิภาคล้านช้าง-แม่โขง ได้แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และข้อมูลเชิงหลักฐานในการใช้ภูมิปัญญาการแพทย์ดั้งเดิมและการแพทย์พื้นบ้านในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด – 19 ที่ครอบคลุมการใช้พืชสมุนไพรในทุกขั้นตอน ตลอดจนเสริมสร้างความร่วมมือด้านงานวิจัยทางวิชาการและการคุ้มครองภูมิปัญญาด้านการแพทย์ดั้งเดิมและการแพทย์พื้นบ้านในระดับภูมิภาคอย่างลึกซึ้งต่อไป
ด้าน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า สปป.ลาว โดยสถาบันการแพทย์ดั้งเดิม ร่วมกับราชอาณาจักรไทย โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ ครั้งที่ 11 ระหว่างวันที่ 12-14 มิถุนายน 2567 โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพิเศษกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ภายใต้โครงการสร้างความร่วมมือด้านการแพทย์ดั้งเดิมและการแพทย์พื้นบ้านเพื่อตอบสนองต่อการระบาดของโควิด – 19 ผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ผู้แทนจากประเทศสมาชิก 6 ประเทศ หมอพื้นบ้าน นักวิชาการ ผู้ประกอบการ และสถาบันการศึกษา จำนวน 300 คน มีกิจกรรมสำคัญ ได้แก่ การนำเสนอผลงานและการอภิปราย การสาธิตภูมิปัญญาของหมอพื้นบ้านเด่น (Show case) การศึกษาดูงานเส้นทางท่องเที่ยวสุขภาพและผลิตภัณฑ์สมุนไพรในราชอาณาจักรไทย และสวนพฤกษศาสตร์ใน สปป.ลาว ตลอดจนการประชุมคณะกรรมการด้านวิชาการและด้านการคุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์ดั้้งเดิมและพันธุกรรมพืชสมุนไพร เพื่อจัดทำแผนการดำเนินงานร่วมกันของประเทศลุ่มน้ำโขง ซึ่งจะทำให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือและระบบข้อมูลสำคัญในการพัฒนาเชิงยุทธศาสตร์ อาทิ ฐานข้อมูลหมอพื้้นบ้านกว่า 50,000 คน และตำรับยาแผนไทย/พื้นบ้าน กว่า 250,000 ตำรับ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการดูแลสุขภาพ สร้างเศรษฐกิจและรายได้ให้กับประชากรลุ่มน้ำโขงในอนาคต