วันที่ 11 มิถุนายน 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมา กระทรวง พม. ได้มีการทำงานร่วมกับทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เราได้ออกตรวจตราขั้นต่ำเดือนละประมาณ 5 ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งเราจะมีการดำเนินการกับผู้ที่ทำการขอทาน ถ้าหากพิสูจน์แล้วว่าเป็นชาวต่างชาติ จะมีการส่งตัวกลับไปยังประเทศต้นทาง ถ้าหากตรวจพบว่าเป็นคนไทย จะมีวิธีการดำเนินการต่างกันไป เราจะส่งไปที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งที่ในความดูแลของกระทรวง พม. จากกนั้น จะมีการฝึกวิชาชีพ และสนับสนุนในการหางานทำ ทั้งนี้ หนึ่งในเหตุผลที่ทางกระทรวง พม. ได้เข้าไปสอบถามกับผู้ทำการขอทาน ซึ่งมีบางท่านกลับเข้าสู่ระบบแล้ว แต่กลับออกมาทำการขอทานใหม่ ถ้าหากเป็นเช่นนั้นจะมีการดำเนินคดี ซึ่งสาเหตุหลักที่ผู้ทำการขอทานกลับมาขอทานซ้ำ มีอยู่ด้วยกัน 2 ประเด็น คือ 1) ค่าปรับในการถูกดำเนินคดีน้อยกว่ารายได้ที่ได้รับ และ 2) มีรายได้ดี เนื่องจากสาเหตุนี้ทำให้ผู้ทำการขอทานมีรายได้ดีจนกระทั่งทำให้ไม่กลัวการเสียค่าปรับตามที่กฎหมายกำหนดไว้ รู้สึกคุ้มค่าที่จะกลับมาทำการขอทานซ้ำ ทั้งนี้ ทำให้เกิดความสงสัยว่ารายได้ดีของผู้ทำการขอทานนั้นมาจากไหน นั่นคือนักท่องเที่ยวและคนในสังคม เพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่เอื้ออาทร และมีความสงสาร ซึ่งผู้ทำการขอทานรูปแบบใหม่จะมีการใช้เด็กและสัตว์เลี้ยง ซึ่งถ้าหากพบว่าเป็นเด็กมาทำการขอทาน เราจะรีบดำเนินการเบื้องต้นคือพิสูจน์ว่าเด็กกับผู้ที่มาด้วยกันนั้นมีความสัมพันธ์เกี่ยวดองทางเครือญาติกันหรือไม่ ถ้าหากพบว่าไม่ใช่จะมีการดำเนินคดี
ทั้งนี้ การที่จะป้องกันปัญหาการขอทานได้อย่างยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมานั้น ตั้งแต่ปี 2557 สามารถจับผู้ทำการขอทานได้ประมาณเกือบ 8,000 คน ซึ่งร้อยละ 30 เป็นชาวต่างชาติ ที่เหลือเป็นคนไทย แต่การที่มีขอทานวนเข้ามาอยู่เรื่อย ๆ และมีปริมาณเพิ่มขึ้น คงต้องขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนให้หยุดการให้ทาน เนื่องจากการสอบถามผู้ทำการขอทาน มักจะได้คำตอบเดียวกันว่ามีรายได้ดีและไม่ต้องเสียภาษี จะดำเนินการที่ใดก็ได้ ถ้าโดนจับไป จำนวนค่าปรับที่ต้องจ่ายก็น้อยกว่ารายได้ที่ได้รับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำนวนขอทานที่พบมากที่สุดคือในกรุงเทพมหานคร ในพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวชุกชุมจำนวนมาก
นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอย้ำว่าทางกระทรวง พม. ตั้งแต่ตนได้เข้ามาทำงาน จะเห็นว่าเจ้าหน้าที่ พม. เรามุ่งมั่นทำงานกันตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อได้รับรายงานเข้ามา เราจะออกไปแก้ไขทันที หลายท่านอาจตั้งข้อสงสัยว่าทำไมต้องรอให้มีคนรายงานแจ้งเข้ามา ถึงจะออกไปแก้ไข ต้องขอเรียนว่าทุกวันนี้ เราออกตรวจตราไม่ต่ำกว่าเดือนละ 5 ครั้ง ถ้าหากจะให้เจ้าหน้าที่ออกไปเดินตรวจตราทุกวันนั้น ซึ่งยังมีการทำงานอีกหลายมิติ ทั้งเรื่องเด็กเล็ก คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส และยังมีคนอีกหลายกลุ่มที่จะต้องดูแล ดังนั้น การวางตารางออกตรวจจับเดือนละ 5 ครั้ง เป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่สามารถทำได้ แต่การที่จะให้ออกไปตรวจตราทุกวัน กำลังเจ้าหน้าที่เรายังไม่เพียงพอ จึงต้องขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน หากพบเห็นผู้ทำการขอทาน ให้แจ้งเข้ามาที่สายด่วน 1300 ของกระทรวง พม. ซึ่งเราพร้อมที่จะรับเรื่องและออกไปดำเนินการ ซึ่งขอความร่วมมือให้หยุดการให้ทาน เพราะถ้าหากรายได้ไม่ดีคงไม่มีใครอยากมาขอทาน
นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า จากการสอบถามผู้ทำการขอทานเรื่องรายได้นั้น ถ้าหากเป็นช่วง High Season พบว่าเคยมีรายได้เกือบ 100,000 บาท โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจำนวนมาก ด้วยความที่ไม่รู้ จะมีการให้กันอยู่เรื่อย ๆ รายได้ที่พบว่าเกือบ 100,000 บาท ไม่แน่ใจว่าเป็นรายได้คนเดียวหรือทำเป็นกลุ่ม ซึ่งการขอทานทุกวันนี้ บางครั้งมีการทำงานกันเป็นขบวนการ ซึ่งลักษณะนี้ คนที่เป็นตัวการใหญ่จะต้องถูกดำเนินคดี ถ้าหากเราสามารถจับได้ว่ามีการใช้บุคคลใด หรือกลุ่มบุคคลใด มาทำการขอทาน บางครั้งคนกลุ่มหนึ่งเข้ามาวางแผนว่าใครควรอยู่จุดไหน แล้วได้จำนวนเงินหลักหมื่น แต่ถ้าหากรวมรายได้กันหลายๆ คนเป็นกลุ่ม แล้วจะได้เงินเกือบ 100,000 บาท ก็อาจจะเป็นไปได้ ส่วนด้านค่าปรับเมื่อถูกจับแต่ละครั้ง จะเริ่มต้นที่หลักพันจนถึงหลักหมื่น สมมุติถ้าหากรายได้เดือนละประมาณ 20,000 บาท แต่ถูกปรับ 5,000 บาท ยังเหลือรายได้อีก 15,000 บาท ในมุมมองของคนที่มาทำการขอทานถือว่าคุ้มค่า ดังนั้น การที่เราให้ทานไปนั้น เราก็เหมือนสนับสนุนให้มีผู้ทำการขอทานมากขึ้น และที่สำคัญกว่านั้นคือการขอทานเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการผลักดันขอทานชาวต่างชาติออกนอกประเทศ แต่ยังมีการวนกลับมาทำการขอทานซ้ำ นั้น คงต้องขอความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะกระทรวง พม. ไม่สามารถไปตรวจตราตามเขตชายแดนได้ ต้องสอบถามไปยังหน่วยงานที่ดูแลเกี่ยวกับตรวจคนเข้าเมือง หรือตามช่องทางธรรมชาติ ว่าจะมีแนวทางในการดำเนินการอย่างไร เนื่องจากเจ้าหน้าที่ พม. มีหน้าที่ในการดูแล กรณีที่พบเจอผู้ทำการขอทานแล้ว ถ้าจะให้ไปอยู่ตามจุดผ่านแดนนั้นไม่สามารถทำได้ เนื่องจากกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้
#ข่าวพม #พม #ศรส #esshelpme #1300 #วราวุธศิลปอาชา #วราวุธรับฟังทำจริง #พมพอใจให้ทุกวัยพึงพอใจในพม #พมหนึ่งเดียว #การจัดการปัญหาขอทาน #หยุดให้ทาน #ขอทาน