วันที่ 10 มิถุนายน 2567 พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจาก ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ว่ากรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ค้นพบถ้ำทะเลแห่งใหม่ จำนวน 2 ถ้ำ บนเกาะหนู จ.สงขลา โดยมีคณะทำงานสำรวจและประเมินคุณค่าถ้ำทางทะเลและชายฝั่ง ลงพื้นที่สำรวจและตั้งชื่อว่า ถ้ำเลหินงาม และถ้ำเลหัวหนู จึงถือได้ว่าเกาะหนูมีความอุดมสมบูรณ์สวยงาม มีถ้ำทะเลอยู่บนเกาะ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสงวน อนุรักษ์ ฟืนฟูให้คงสภาพ รักษาระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งนี้ไว้ นำไปสู่การส่งเสริมการบริหารจัดการพื้นที่ ทั้งในเชิงท่องเที่ยวชุมชน แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่ช่วยสร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจให้พื้นที่ จึงได้มอบหมายให้ กรม ทช. วางแผนกับหน่วยงานสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และจังหวัดสงขลา เพื่อบริหารจัดการพื้นที่ รองรับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
ด้าน ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า เมื่อไม่นานมานี้ คณะทำงานสำรวจและประเมินคุณค่าถ้ำทางทะเลและชายฝั่ง ได้ลงพื้นที่สำรวจถ้ำมรกต ถ้ำค้างคาว และถ้ำญี่ปุ่น บนเกาะหนู จ.สงขลา ร่วมกับ ดร.สายัญ ทองศรี ผู้ประสานงานเครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จ.สงขลา ได้พบถ้ำใหม่ไม่มีชื่อที่ชายฝั่งเกาะหนูเพิ่มอีก 2 ถ้ำ จึงตั้งชื่อว่า ถ้ำเลหินงาม และถ้ำเลหัวหนู ซึ่งขณะนี้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอยู่ระหว่างการสำรวจถ้ำทางทะเลและชายฝั่งทั่วประเทศ โดยมีคณะทำงานสำรวจและประเมินคุณค่าถ้ำทางทะเลและชายฝั่ง ทำหน้าที่ในการวางแผนการสำรวจถ้ำในพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งทั้ง 24 จังหวัดชายฝั่งทะเล รวบรวมและจัดทำฐานข้อมูลทางวิชาการ รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์และประเมินคุณค่าถ้ำทางทะเลและชายฝั่งด้วย สำหรับประเภทของถ้ำในประเทศไทย มีการแบ่งอยู่หลายวิธี ซึ่ง “ถ้ำทางทะเล” (Sea cave) จัดเป็นประเภทถ้ำที่แบ่งตามลักษณะการเกิด โดยคลื่นที่กระแทกเข้ากับชายฝั่งทะเล (หรือริมทะเลสาบขนาดใหญ่) ที่เป็นหน้าผาหินเป็นเวลานาน จนทำให้ส่วนที่อ่อนหรือแตกหักง่ายของหินนั้นพังทลายลงมาจนเกิดเป็นโพรง
ด้านระบบนิเวศทางทะเลของเกาะหนู กรม ทช. โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง (ศวทล.) ได้สำรวจเกาะหนู พบว่ามีเนื้อที่ประมาณ 75 ไร่ พื้นชายฝั่งบริเวณรอบเกาะโดยส่วนใหญ่เป็นหน้าผาหินชัน ชายฝั่งทางด้านทิศตะวันออกของเกาะมีลักษณะเป็นโขดหิน มีถ้ำที่เกิดจากการกัดเซาะของน้ำทะเล คือ ถ้ำญี่ปุ่นทางด้านหัวเกาะทิศเหนือเป็นที่ตั้งของถ้ำมรกต ถ้ำค้างคาว และ ผาหินชมพู ในขณะที่ทิศใต้ชายฝั่งมีลักษณะเป็นโขดหิน ทางด้าน ทิศตะวันตกของเกาะเป็นบริเวณที่มีพื้นที่เป็นชายหาดทรายความยาวประมาณ 100 เมตร ล่าสุดที่มีการสำรวจพบถ้ำทะเลใหม่อีก 2 ถ้ำนั้น แต่ละถ้ำมีลักษณะที่แตกต่างกันไป จึงมีการเรียกชื่อตามลักษณะเฉพาะที่พบ “ถ้ำเลหินงาม” เป็นถ้ำที่หินมีสีสันสวยงามจากการขัดสีของคลื่นทะเล
ส่วน “ถ้ำเลหัวหนู” เป็นถ้ำที่หินมีสีเทาดำ มีลักษณะเป็นก้อนกรวดอยู่รวมตัวกันคล้ายชายหาดหิน และอยู่ตรงส่วนที่เป็นหัวหนูของเกาะหนูนั่นเอง และจากข้อสั่งการของ รมว.ทส. ที่มอบหมายให้กรม กำหนดแนวทางการบริหารจัดการเกาะ รวมถึงทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล กรมจะประสานการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ทั้งหน่วยงานกระทรวง ทส. จังหวัด ท้องถิ่น เพื่อร่วมกันดูแลอนุรักษ์เกาะ และพื้นที่ธรรมชาติทางทะเล และเน้นย้ำเรื่องการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล ชุมชนชายฝั่งในพื้นที่ ให้ช่วยกันสอดส่องดูแลพื้นที่หน้าบ้านของตนเอง สนับสนุนส่งเสริม และประชาสัมพันธ์แนวทางการท่องเที่ยวทางทะเลอย่างรับผิดชอบ ไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อม เพื่อรักษาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้คงอยู่อย่างยั่งยืน “ดร.ปิ่นสักก์ กล่าว”