นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา (อศน.) กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ให้ความสำคัญการสวดโอ้เอ้วิหารราย โดยดำเนินการจัดโครงการฝึกหัดสวดโอ้เอ้วิหารราย ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 กรมการศาสนา บูรณาการและประสานกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ สำนักพระราชวัง กรมศิลปากร วิทยาลัยนาฏศิลป กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และหน่วยงานอื่นๆ ได้จัดโครงการอบรมฝึกหัดสวดโอ้เอ้วิหารรายให้แก่สถานศึกษาทั้งครูและนักเรียน โดยจัดทำหลักสูตร รวมทั้งผลิตเอกสารและสื่อสำหรับใช้ฝึกหัดสวดโอ้เอ้วิหารราย และเชิญคณะวิทยากรจากกรมศิลปากร ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับการสวดโอ้เอ้วิหารรายมาบรรยายให้ความรู้แก่ผู้เข้ารับการอบรม ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ผ่านระบบ ONLINE และ ONSITE รวมจำนวนทั้งสิ้น 809 คน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่ออนุรักษ์และสืบทอดการสวดโอ้เอ้วิหารรายที่ถูกต้องตามราชประเพณีให้คงอยู่เป็นเอกลักษณ์ของสังคมไทยสืบไป
อธิบดีกรมการศาสนา (อศน.) กล่าวต่อไปว่า กรมการศาสนา ได้จัดการประกวดสวดโอ้เอ้วิหารราย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา และระดับอุดมศึกษา ระหว่างวันที่ 16 – 17 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ อาคารหอศิลป์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อคัดเลือกทีมที่ชนะการประกวด เข้ารับพระราชทานโล่รางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งมีสถานศึกษาส่งนักเรียน นักศึกษา เข้าร่วมการประกวด ในระดับประถมศึกษา ประเภทชายล้วน จำนวน 11 ทีม ประเภทหญิงล้วน จำนวน 33 ทีม และประเภททีมผสม จำนวน 15 ทีม ระดับมัธยมศึกษา ประเภทชายล้วน จำนวน 18 ทีม ประเภทหญิงล้วน จำนวน 25 ทีม และประเภททีมผสม จำนวน 28 ทีม ระดับอุดมศึกษา ประเภททีมผสม จำนวน 11 ทีม การประกวดดังกล่าวได้ดำเนินการเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยสถานศึกษาที่ได้รับรางวัลทุกประเภท จะได้เข้าสวดโอ้เอ้วิหารราย ณ ศาลารายรอบพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เนื่องในเทศกาลเข้าพรรษา ตามโบราณราชประเพณีที่สืบต่อกันมาเป็นระยะเวลายาวนาน ในการนี้ กรมการศาสนา จึงจัดประชุมเตรียมความพร้อมและซักซ้อมความเข้าใจก่อนการสวดโอ้เอ้วิหารราย ในเทศกาลเข้าพรรษา พุทธศักราช 2567 เมื่อวันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน 2567 ณ ห้อง Auditorium ชั้น G กระทรวงวัฒนธรรม จำนวน 100 คน และผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อชี้แนะแนวทาง ข้อควรปฏิบัติ รวมถึงเตรียมความพร้อมและซักซ้อมความเข้าใจก่อนสวดจริงให้ครูและนักเรียน
การสวดโอ้เอ้วิหารราย นับเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมไทย ที่บรรพบุรุษได้รังสรรค์ไว้ เพื่อส่งต่อเป็นมรดกทางภูมิปัญญาในด้านวรรณกรรมไทยที่มีมาแต่ช้านาน การสวดโอ้เอ้วิหารรายนั้นเกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา สืบทอดมาจนถึงในรัชสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นการสวดกาพย์ลำนำที่มีท่วงทำนองเนิบช้า ตามวิหารรายหรือศาลาราย รอบพระอุโบสถ เนื่องจากมีทวงทำนองที่ช้าและสวดตามศาลาหรือวิหาร จึงมีการเรียกว่าโอ้เอ้วิหารราย ปัจจุบันยังมีการสวดโอเอ้วิหารรายที่ศาลารายรอบพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามในพระบรมมหาราชวัง เนื่องในเทศการเข้าพรรษา ในยุคปัจจุบันใช้กาพย์พระไชยสุริยา ของ สุนทรภู่เป็นบทสวด คือทำนองกาพย์ยานี 11 ทำนองกาพย์สุรางคนางค์ 28 และทำนองกาพย์ฉบัง 16
– ทำนองกาพย์ยานี เป็นทำนองที่บูชาพระรัตนตรัย พ่อแม่ครูบาอาจารย์ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีการออกเสียง / เฮิ่ง เงิ่ง เง่อ / เฮิง เงิง เงอ / เป็นต้น แทรกระหว่างคำซึ่งทำนองจะจบลงในหนึ่งบาทเท่านั้น เมื่อขึ้นบทใหม่ก็จะใช้ทำนองเดิมซ้ำอีก
– ทำนองกาพย์ฉบัง เป็นท่วงทำนองที่กระชับ รวดเร็ว มีการสลับคำของผู้สวด เพื่อความไพเราะสนุกสนาน มักแทรกคำเอื้อนว่า /เออ / เฮอะ เอ่ย / เป็นต้น
– ทำนองกาพย์สุรางคนางค์ จะมีการแบ่งจังหวะการอ่านคำในแต่ละวรรค คือ หนึ่งบทมี 7 วรรค แต่ละวรรคมีจำนวนคำ 4 คำเท่าๆ กัน การอ่านจึงเว้นจังหวะเหมือนกันคือ 2/2 คำ การอ่านออกเสียงกาพย์สุรางคนางค์สามารถอ่านได้ทั้งเสียงธรรมดา และอ่านให้เป็นทำนองเสนาะ ทำนองสวดมีการออกเสียง / เอ่อ เฮ้อ เอิง เงอ เออ เฮ้อ เออ เฮ้อ เฮิง เงอ / เป็นต้น
อธิบดีกรมการศาสนา (อศน.) กล่าวทิ้งท้ายว่า การสวดโอ้เอ้วิหารราย ถือเป็นธรรมเนียมทางวัฒนธรรมของไทยที่มีมาอย่างยาวนานควรค่าแก่การอนุรักษ์ เป็นบทสวดที่ปฏิบัติและสืบทอดต่อกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เป็นการอ่านกาพย์พระไชยสุริยาที่นำมาจากหนังสือมูลบทบรรพกิจ ซึ่งเป็นตำราเรียนขั้นปฐมภูมิของเด็กสมัยโบราณ เพื่อช่วยในการอ่านออกเสียงและผันวรรณยุกต์ โดยบทสวดดังกล่าวได้มีการสอดแทรกคติธรรมต่างๆ ที่สามารถใช้ในการดำรงชีวิตได้ ทำให้เยาวชนรุ่นหลังได้อนุรักษ์สืบสานและตระหนักถึงความสำคัญของการสวดโอ้เอ้วิหารราย และได้มีส่วนร่วมของการสืบสานธรรมเนียมความเป็นไทย