ผนึกพลัง 33 เกาะทั่วไทย และ 30 องค์กรเครือข่าย ปลุกกระแสแก้วิกฤติมหาสมุทรโลก ร่วมสร้างมูลค่าใหม่ให้เกาะไทย ยกระดับสู่การท่องเที่ยวยั่งยืนและคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์

เครือข่ายประชาคมชาวเกาะประเทศไทย 33 เกาะ ผนึกพลังกว่า 30 องค์กร ร่วมประกาศเจตนารมณ์พิทักษ์ ปกป้อง ดูแลและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพของเกาะและทรัพยากรทะเล และร่วมมือร่วมใจจัด “งานสัมมนาการท่องเที่ยวเกาะอย่างยั่งยืนประเทศไทย” ครั้งที่ 2 ภายใต้แนวคิด “ผนึกพลังคุณค่า สร้างมูลค่าใหม่ของเกาะไทย” เนื่องในวันมหาสมุทรโลก ณ เกาะลันตา

วันที่ 7 มิถุนายน 2567 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยกรมการท่องเที่ยว ร่วมกับ องค์กรภาคีเครือข่าย หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม สถาบันการศึกษา องค์กรระหว่างประเทศ จำนวนกว่า 30 องค์กร และประชาคมชาวเกาะ จำนวน 33 เกาะ ซึ่งประกอบด้วย เกาะช้าง เกาะกูด เกาะหมาก เกาะจิก เกาะทะลุ เกาะพิทักษ์ เกาะสมุย เกาะมัดสุม เกาะพะลวย เกาะแตน เกาะพะงัน เกาะเต่า เกาะพยาม เกาะช้างเล็ก เกาะภูเก็ต เกาะราชา เกาะลันตา เกาะคอเขา เกาะปู เกาะจัม เกาะคณฑี เกาะศรีบอยา เกาะพีพี เกาะยาวใหญ่ เกาะยาวน้อย เกาะมุก เกาะพระทอง เกาะลิบง เกาะสุกร เกาะกระดาน เกาะไหง เกาะปันหยี และเกาะหลีเป๊ะ ประกาศเจตนารมณ์พิทักษ์ ปกป้อง ดูแลและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพของเกาะและทรัพยากรทะเล และร่วมมือร่วมใจจัด “งานสัมมนาการท่องเที่ยวเกาะอย่างยั่งยืนประเทศไทย” ครั้งที่ 2 ภายใต้แนวคิด “ผนึกพลังคุณค่า สร้างมูลค่าใหม่ของเกาะไทย” เนื่องในวันมหาสมุทรโลก (World Ocean Day) ณ หาดคลองดาว อำเภอลันตา จังหวัดกระบี่

นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบและยั่งยืน โดยเน้นย้ำให้ทุกส่วนงานพัฒนางานด้านการท่องเที่ยวให้เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals:SDGs) และโมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นหลัก ซึ่งการสัมมนาชาวเกาะในครั้งนี้ ถือเป็นนิมิตหมายความร่วมมือที่ดีระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้นำเกาะ และองค์กรภาคีเครือข่ายต่างๆ ในการพัฒนาเกาะและแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติที่สำคัญ ให้มีแนวทางการบริหารจัดการและพัฒนาเกาะท่องเที่ยวที่ยั่งยืน เพื่อสร้างสมดุลทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เตรียมพร้อมรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก รวมทั้งพัฒนาการท่องเที่ยวของไทยให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป

นายจาตุรนต์ ภักดีวานิช อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยวทางทะเลและการท่องเที่ยวเกาะอย่างยั่งยืน คือ แนวคิดเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) หรือ การใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาอาชีพ และความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ไปพร้อมๆ กับการอนุรักษ์ระบบนิเวศทางทะเล ซึ่งแนวคิดเศรษฐกิจสีน้ำเงินมีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 14 การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน โดยกรมการท่องเที่ยวได้นำแนวคิดดังกล่าวมาจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวเกาะอย่างยั่งยืนร่วมกับเครือข่ายผู้นำเกาะต่างๆ ซึ่งแผนปฏิบัติการดังกล่าวได้ให้ความสำคัญกับ 8 หมุดหมาย ได้แก่ การฟื้นฟูระบบนิเวศ การอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ การวางแผนการพัฒนาและการใช้ประโยชน์ที่ดิน การปรับตัวของชุมชนเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยธรรมชาติเกาะ การบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์และใช้ทรัพยากรบนเกาะอย่างชาญฉลาด การมีส่วนร่วมของเครือข่าย และการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเกาะเพื่อการเติบโตสีเขียวที่ยั่งยืน

นอกจากนี้ อธิบดีกรมการท่องเที่ยวยังกล่าวเน้นย้ำอีกว่า การพัฒนาการท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่งให้มีคุณภาพมีความสำคัญอย่างยิ่ง ด้วยความเป็นระบบนิเวศเกาะ พื้นที่ถูกล้อมรอบด้วยน้ำ สภาพพื้นที่สวยงาม มีชนิดพันธุ์หายากและแปลกตา ทำให้เกาะเป็นพื้นที่ “hot spots” ที่อุดมไปด้วยทรัพยากรพืชและสัตว์ที่สำคัญของโลก ซึ่งปัจจุบันการท่องเที่ยวมีการขยายตัวและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลทั้งด้านบวกและด้านลบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ดังนั้น งานสัมมนาวิชาการท่องเที่ยวเกาะอย่างยั่งยืนครั้งนี้ จะเป็นการปลุกกระแสให้ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ด้วยพลังความร่วมมือของภาคประชาสังคมของชาวเกาะ ภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน เพื่อเสริมพลังสร้างองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการพัฒนา ให้รู้เท่าทันสถานการณ์และวิกฤติของเกาะต่อไป

ด้าน นางณัฐธยาน์ ผาสุก นายอำเภอเกาะลันตา และนายวิชิต ยะลา นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะลันตา กล่าวสนับสนุนและเน้นย้ำถึงความเป็นมาว่า การสัมมนาครั้งนี้มีความสำคัญต่อการยกระดับความร่วมมือและสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางงวิชาการด้านการท่องเที่ยวเกาะสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ดังนั้น ข้อมูล องค์ความรู้ บทเรียน ตลอดจนแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวเกาะอย่างยั่งยืน จะมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ครอบคลุมมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สนับสนุนให้เกิดการยกระดับการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเกาะอย่างมีส่วนร่วม ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพของผู้นำเกาะคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของการพัฒนาการท่องเที่ยวเกาะอย่างยั่งยืนต่อไป

นายวัชรินทร์ ฟ้าสิริพร นายกเทศบาลตำบลเกาะเต่า นายจักรกฤษณ์ สลักเพชร นายกเทศบาลตำบลเกาะช้างใต้ นายอิสมาแอน เบ็ญสะอาด ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวและพัฒนาอาชีพเกาะลิบง นางสาวชลธาร คำภูมี รองประธานวิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวเกาะหลีเป๊ะยั่งยืน นายดุสิทธิ์ ทองเกิด นายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกมูลนิธิการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และคุณองษ์สรรค์ ดำรงออกตระกูล ร่วมกล่าวประกาศเจตนารมณ์ปิดท้ายว่า

“พวกเรา เครือข่ายประชาคมชาวเกาะประเทศไทย จำนวน 33 เกาะ จาก 932 เกาะทั่วประเทศไทย ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลกที่จะลุกขึ้นมาประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือในการพิทักษ์ ปกป้อง ดูแลและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพของเกาะและทรัพยากรทะเล ตลอดจนสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ของสหประชาชาติ และเป้าหมาย 30 บาย 30 หรือเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่คุ้มครองร้อยละ 30 ภายในปี ค.ศ.2030 ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายความร่วมมือระดับโลกของกว่า 100 ประเทศ จากการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 หรือ COP (คอป) 15 เมื่อปลายปี พ.ศ.2565 ที่เรียกร้องให้มีการปกป้องและอนุรักษ์มหาสมุทร แผ่นดิน และแหล่งน้ำจืดอย่างน้อยร้อยละ 30 ภายในปี ค.ศ. 2030 โดยกิจกรรมปล่อยปูหน้าขาว..คืนบ้านให้เสฉวน…หวนคำนึงวิถีชาวเล เนื่องในวันมหาสมุทรโลก (World Ocean Day) ณ หาดคลองดาว เกาะลันตา ครั้งนี้ ถือเป็นกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เพื่อแสดงเจตนารมณ์ของพวกเราชาวเกาะ ในการร่วมปกป้องทรัพยากรทางทะเล ด้วยภูมิปัญญาและนวัตกรรม รักษาความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล และเคารพวัฒนธรรม วิถีชีวิตชาวเล พร้อมผนึกพลังสร้างมูลค่าใหม่ให้เกาะของไทย มุ่งสู่การพัฒนาเพื่อการท่องเที่ยวเกาะอย่างยั่งยืน และการท่องเที่ยวเกาะคาร์บอนเป็นศูนย์ เพื่อให้เกาะบ้านเราน่าอยู่ น่าเที่ยวและยั่งยืน ส่งต่อให้รุ่นลูกรุ่นหลานสืบต่อไป”