กรมควบคุมโรค ชื่นชมอุดรธานี นำร่อง “ร้านก๋วยเตี๋ยว ดีต่อไต” สนับสนุนให้ประชาชน ลดการบริโภคเกลือและโซเดียม

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยผลโครงการนำร่อง : ร้านก๋วยเตี๋ยว ดีต่อไต สนับสนุนให้ประชาชนในพื้นที่ปรับตัวลดการบริโภคเกลือและโซเดียม เพื่อลดความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อ

วันนี้ (7 มิถุนายน 2567) นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า โรคไม่ติดต่อ เป็นปัญหาสุขภาพอันดับหนึ่งของโลกและของประเทศไทย โดยเฉพาะโรคความดันโลหิตสูง ที่พบมากถึง 14 ล้านคน จากระบบรายงานข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2566 พบผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่ขึ้นทะเบียนรักษาเพียง 7 ล้านคน ปัจจุบันสถานการณ์การบริโภคเกลือและโซเดียม ในประเทศไทยพบว่า มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก 1.5 – 2 เท่า (ไม่ควรบริโภคโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน) และจากการสำรวจพฤติกรรมบริโภคอาหารของจังหวัดอุดรธานี ปี 2566 โดยสุ่มตรวจอาหาร จำนวน 3,810 ตัวอย่าง พบมีค่าความเข้มข้นของโซเดียมอยู่ในระดับเริ่มเค็ม และเค็มมาก ร้อยละ 59.30 อาหารประเภทส้มตำ มีค่าเฉลี่ยปริมาณโซเดียมต่อหน่วยบริโภคสูงที่สุด คือ 1,055.59 มิลลิกรัม รองลงมาเป็นอาหารประเภทก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ ราดหน้า มีค่าเฉลี่ยปริมาณโซเดียม 948.86 มิลลิกรัม

นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมควบคุมโรคร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 8 จังหวัดอุดรธานี ศูนย์อนามัยที่ 8 อุดรธานี และภาคีเครือข่าย ได้ริเริ่มโครงการส่งเสริมสุขภาพ ลดการบริโภคเกลือและโซเดียม ร้านก๋วยเตี๋ยว ดีต่อไต โดยนำร่องในพื้นที่เทศบาลนครอุดรธานี สนับสนุนให้มีการใช้ salt meter ในการวัดปริมาณโซเดียมให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ทั้งนี้มีจำนวนผู้ประกอบการร้านก๋วยเตี๋ยว 45 ร้าน ที่เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย อำเภอเมือง 34 ร้าน อำเภอบ้านดุง 6 ร้าน อำเภอบ้านผือ 2 ร้าน และโรงพยาบาลอุดรธานี 3 ร้าน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา และจากการติดตามผลพบว่า ทั้ง 45 ร้าน สามารถปรับสูตรน้ำก๋วยเตี๋ยวลดปริมาณโซเดียมลงได้ทุกร้าน โดยผ่านเกณฑ์ระดับเค็มน้อย (Salt ≤0.70%) ร้อยละ 64.29 เทียบกับก่อนเริ่มโครงการที่ ร้อยละ 16.67 เกณฑ์ระดับเค็ม (Salt >0.90%) ร้อยละ 21.43 เทียบกับก่อนเริ่มโครงการที่ร้อยละ 78.57 ผลดังกล่าวทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีทางเลือกในการรับประทานก๋วยเตี๋ยวที่มีปริมาณเกลือโซเดียมที่ไม่เกินค่ามาตรฐาน

ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณจังหวัดอุดรธานี ที่เห็นความสำคัญในการดำเนินการลดการบริโภคเกลือ และโซเดียมจนเป็นต้นแบบ ได้รับความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน สร้างความรอบรู้ ด้านสุขภาพให้แก่ประชาชนในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบริโภค โดยเฉพาะลดการบริโภคเกลือและโซเดียม เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคความดันโลหิตสูง และโรคไม่ติดต่ออื่นๆ  โรคความดันโลหิตสูงสามารถ ป้องกันได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเกลือและโซเดียมที่เกินความจำเป็น หลีกเลี่ยงอาหาร  รสเค็มหรืออาหารที่มีโซเดียมสูง งดสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 3-5 วัน อย่างน้อยวันละ 30 นาที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422