สทนช. เสริมองค์ความรู้คณะกรรมการลุ่มน้ำ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการในการนำกระบวนการ SEA ประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ ใช้วางแผนแม่บทลุ่มน้ำ นำร่อง 6 ลุ่มน้ำภาคเหนือ มุ่งสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน สะท้อนความต้องการและการพัฒนาเชิงพื้นที่ เพื่อร่วมขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการเพิ่มศักยภาพการใช้กระบวนการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) ในการวางแผนด้านทรัพยากรน้ำระดับลุ่มน้ำ ครั้งที่ 1 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-6 มิถุนายน 2567 ณ โรงแรมฮอไรซั่น วิลเลจ แอนด์ รีสอร์ท จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นางพัชรวีร์ สุวรรณิก ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนแม่บท สทนช. พร้อมด้วย คณะกรรมการลุ่มน้ำและหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม
เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า จากการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ผ่านมา พบว่า ยังมีข้อจำกัดหรือประเด็นความท้าทายในระดับพื้นที่เป็นอย่างมาก ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นในทุกๆ ปี ทำให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับมติของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 ที่เห็นชอบ (ร่าง) แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ในเขตลุ่มน้ำ 22 ลุ่มน้ำ และมีข้อเสนอให้คณะกรรมการลุ่มน้ำนำแนวทางการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) มาใช้ในการปรับปรุงแผนแม่บทลุ่มน้ำ รวมทั้งสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่เห็นชอบในหลักการต่อ (ร่าง) แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (ปรับปรุงช่วงที่ 1 พ.ศ. 2566-2580) โดยเห็นควรให้เพิ่มเติมแนวทางการดำเนินงานในการจัดทำแผนแม่บทลุ่มน้ำด้วยกระบวนการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA)
การจัดทำแผนแม่บทลุ่มน้ำ เป็นหน้าที่อำนาจหนึ่งของคณะกรรมการลุ่มน้ำ ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นบทบาทที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการจัดทำแผนด้านทรัพยากรน้ำระดับลุ่มน้ำ เพื่อให้การพัฒนาทรัพยากรน้ำในพื้นที่มีความครบถ้วนสมบูรณ์ สะท้อนข้อเท็จจริงหรือความต้องการของทุกภาคส่วนในพื้นที่อย่างแท้จริง อีกทั้งหน่วยงานยังสามารถนำแผนงานที่จัดทำด้วยกระบวนการ SEA ไปสู่แนวทางการปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมด้วย
“สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการเพิ่มศักยภาพการใช้กระบวนการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ในการวางแผนด้านทรัพยากรน้ำระดับลุ่มน้ำครั้งนี้ สทนช. ได้จัดขึ้นเป็นเวทีแรก โดยเริ่มที่จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่ภาคเหนือ เป็นพื้นที่นำร่อง เนื่องจากเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหลายสาย โดยมีคณะกรรมการลุ่มน้ำจากทุกภาคส่วน ทั้ง 6 ลุ่มน้ำ ประกอบด้วย ลุ่มน้ำสาละวิน ลุ่มน้ำโขงเหนือ ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำวัง ลุ่มน้ำยม และลุ่มน้ำน่าน จำนวน 120 คน เข้าร่วม โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คณะกรรมการลุ่มน้ำ จะสามารถนำกระบวนการ SEA ไปต่อยอดในการจัดทำแผนแม่บทลุ่มน้ำในปีงบประมาณ 2568 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สะท้อนความต้องการและบริบทของแต่ละลุ่มน้ำได้อย่างแท้จริง สอดรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ศักยภาพและทิศทางการพัฒนาในเชิงพื้นที่ ที่สอดคล้องสมดุลกันทั้ง 3 มิติ ได้แก่ มิติเศรษฐกิจ มิติสังคม และมิติสิ่งแวดล้อม อันนำไปสู่การขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศที่มีประสิทธิภาพต่อไป”