ดร.ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวในการเป็นประธานพิธีเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ Young Talent รวมพลเยาวชนสร้างสรรค์สื่อ สรรค์สร้างสังคม “Content Creator” เมื่อเร็วๆนี้ที่โรงแรมเดอะพาลาสโซ กรุงเทพฯ โดยมีผู้บริหาร ข้าราชการกระทรวงวัฒนธรรม วิทยากร เครือข่ายเด็กและเยาวชน และเครือข่ายอาสาสมัครเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม 25 จังหวัดภาคกลางและภาคตะวันออกกว่า 100 คน เข้าร่วมว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยกองเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมได้ดำเนินการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการผลิตสื่อสร้างสรรค์เพื่อเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ค่านิยมและวัฒนธรรม อันดีงามเผยแพร่สู่สังคม ขณะเดียวกันก็ไม่ละเลยต่อการเฝ้าระวังพฤติกรรม หรือความเบี่ยงเบนทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในสังคม ตลอดจนการตรวจสอบและเฝ้าระวังสื่อที่ไม่เหมาะสม ทั้งสื่อกระแสหลักและสื่อสังคมออนไลน์ ที่สำคัญได้จัดกิจกรรมเสริมสร้างทักษะในการผลิตสื่อสร้างสรรค์ให้กับเยาวชนที่เป็นเครือข่ายอาสาสมัครเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม รู้เท่าทันสื่อและภัยคุกคาม ทุกรูปแบบ และนำไปใช้ต่อยอดสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับเด็กและเยาวชนซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญพัฒนาประเทศ
ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า วธ.จึงได้จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ Young Talent รวมพลเยาวชนสร้างสรรค์สื่อ สรรค์สร้างสังคม “Content Creator” ซึ่งจัดอบรมในภูมิภาคต่างๆ มาแล้ว 3 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ จังหวัดอุดรธานี ครั้งที่ 2 กลุ่มจังหวัดภาคเหนือ ณ จังหวัดพิษณุโลก และครั้งที่ 3 กลุ่มจังหวัดภาคกลางและภาคตะวันออก จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4 – 6 มิถุนายน 2567 ณ โรงแรมเดอะพาลาสโซ กรุงเทพฯ ซึ่งการจัดอบรมแต่ละภูมิภาคได้เชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสื่อสารมวลชน วิทยากรจากสำนักงานเลขานุการสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม คณะอนุกรรมการพัฒนาสื่อดิจิทัลในกลุ่มเยาวชนอย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย วุฒิสภา และคณะวิทยากรเยาวชน Seed Thailand มาถ่ายทอดความรู้และร่วมกันพัฒนาทักษะเสริมสร้างศักยภาพและสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมให้กับเครือข่ายอาสาสมัครเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมทุกภาคส่วนได้รู้เท่าทันสื่อ รู้เท่าทันภัยคุกคามรูปแบบใหม่ในศตวรรษที่ 21 และรู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมและกลโกงออนไลน์ในยุคปัจจุบัน รวมถึงยกระดับกลไกการเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมให้มีประสิทธิภาพในการติดตามสถานการณ์เฝ้าระวัง แจ้งเตือนภัยสังคมและเฝ้าระวังพฤติกรรมที่มีแนวโน้ม ส่งผลกระทบต่อการเบี่ยงเบนทางวัฒนธรรม และร่วมแก้ไขปัญหาสังคมด้านต่าง ๆได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
“เด็กและเยาวชนทุกคนที่เข้าอบรม จะได้เรียนรู้ทักษะผลิตสื่อสร้างสรรค์ เพื่อเป็นผู้ผลิตเนื้อหาสื่อสร้างสรรค์ หรือ Content Creator ในการผลิตสื่อสร้างสรรค์เพื่อเผยแพร่ผ่านสื่อในแพลตฟอร์มต่างๆ และในโซเชียลมีเดียและเป็นเยาวชนแกนนำที่จะนำความรู้เหล่านี้ไปถ่ายทอดสู่ชุมชน ตลอดจนนำความคิดสร้างสรรค์และทักษะการผลิตสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ไปขยายผลให้เกิดสื่อที่ดีและสร้างสรรค์เผยแพร่สู่สังคมและนำไปต่อยอดเพื่อเป็นอาชีพและสร้างรายได้ให้กับตัวเองในอนาคต รู้สึกภาคภูมิใจเยาวชนบางคนที่ผ่านอบรมได้นำความรู้ไปต่อยอดจนเป็นมืออาชีพด้านผลิตสื่อสร้างสรรค์และปลอดภัย สร้างรายได้แก่ตนเองและเติบโตเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้สู่สังคม ปัจจุบันมีกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์สนับสนุนเด็กและเยาวชนผลิตสื่อดี รวมถึงวธ.ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เช่น หน่วยงานป้องกันการทุจริต หน่วยงานกระทรวงกลาโหมขับเคลื่อนงานสร้างสรรค์สื่อดี และสถาบันการศึกษาและเอกชนจัดประกวดสื่อดีเช่นกัน อีกทั้งอยากให้เด็กและเยาวชนเรียนรู้เพิ่มเติมเรื่องกฎหมายด้านสื่อ เช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ.2560 พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 เพื่อจะไม่กระทำผิดเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ขณะเดียวกันสิ่งที่วธ.อบรมไม่ใช่แค่ความรู้เท่านั้น แต่ยังมุ่งปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม สิทธิและหน้าที่ของเด็กและเยาวชน ความรับผิดชอบต่อสังคมให้แก่เด็กและเยาวชนด้วย ”ดร.ยุพา กล่าว