กรมทรัพยากรธรณีลงพื้นที่เกาะสมุย เตรียมติดตั้งเครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหว เฝ้าติดตามสถานการณ์ ย้ำ! เกาะสมุยยังเป็นพื้นที่ปลอดภัย

วันที่ 5 มิถุนายน 2567 กรมทรัพยากรธรณี โดยนายฐิติพันธ์ จูจันทร์โชติ รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณีนำคณะนักวิชาการด้านแผ่นดินไหว ลงพื้นที่เกาะสมุย แถลงติดตั้งเครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหว ร่วมกับ นายกัมปนาท กลิ่นเสาวคนธ์ นายอำเภอเกาะสมุย นายสุธรรม สามทอง รองนายกเทศมนตรีเกาะสมุย และนายพูนชิด คำลุน รก.หัวหน้าสำนักงาน ปภ. สาขาเกาะสมุย ณ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สาขาเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี

จากกรณีเกิดเหตุแผ่นดินไหวติดต่อกัน 2 ครั้ง ในอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2567 เวลา 08.24 น. ขนาดความแรง 2.4 ที่ระดับความลึก 4 กิโลเมตร ที่ตำบลอ่างทอง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี และวันที่ 1 มิถุนายน 2567 เวลา 08.24 น. เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 2.2 ที่ความลึก 2 กิโลเมตร ที่ตำบลบ่อผุด อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ห่างจากจุดแรกประมาณ 20 กิโลเมตร และห่างจาก รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย ประมาณ 80 กิโลเมตร โดยเป็นผลมาจากการเลื่อนตัวของรอยแตกในหินแกรนิตที่ถูกกระตุ้นโดยพลังงานความร้อนใต้พิภพ

นายฐิติพันธ์ จูจันทร์โชติ รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยว่า จากความห่วงใยของ พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สั่งการให้กรมทรัพยากรธรณี เร่งติดตั้งเครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหว สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวที่อยู่บนเกาะสมุย

“วันนี้กรมทรัพยากรธรณี โดยกองธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อมได้นำเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหวที่เรียกว่า เครื่องมือวัดความสั่นสะเทือนพื้นดินช่วงคลื่นสั้น (Short period Seismograph) มาติดตั้งที่บริเวณพื้นที่เกาะสมุย เพื่อติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหว เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องประชาชน และนักท่องเที่ยว

ด้าน ดร.วีระชาติ วิเวกวิน ผู้อำนวยการส่วนรอยเลื่อนมีพลังและแผ่นดินไหว กองธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ขณะนี้กรมทรัพยากรธรณี ได้ติดตั้งเครื่องมือดังกล่าว รวมทั้งสิ้น 58 สถานี ครอบคลุม 16 กลุ่มรอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย และได้มีการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลการตรวจวัดแผ่นดินไหวแบบ Real time กับระบบประมวลผลกลางของกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อศึกษาพฤติกรรมกรรมของรอยเลื่อนมีพลังเมื่อเกิดแผ่นดินไหว โดยการตรวจหาตำแหน่งศูนย์กลางแผ่นดินไหว ขนาดแผ่นดินไหว และระดับความลึกแผ่นดินไหว ทำให้สามารถตรวจวัดแผ่นดินไหวได้อย่างรวดเร็ว และมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น และมีข้อมูลตำแหน่งการกระจายตัวของแผ่นดินไหวตลอดจนความถี่ของการเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวสำหรับนำไปใช้ในการจัดทำแผนที่ภัยพิบัติแผ่นดินไหวต่อไป

อย่างไรก็ตาม กรมทรัพยากรธรณี จะดำเนินการติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่