กฟผ. ลงนามความร่วมมือกับ บริษัท IHI Corporation ประเทศญี่ปุ่น แลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้ในการผลิตและการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลร่วมกับถ่านหินที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ หวังเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด มุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero Emission
วันที่ 4 มิถุนายน 2567 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท IHI Corporation ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ องค์ความรู้ และเทคโนโลยีในการจัดตั้งโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง พร้อมทั้งประเมินองค์ประกอบและคุณสมบัติของ wood pellets เพื่อทดสอบการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งร่วมกับถ่านหินที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง โดยมี นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน และ Mr. Shinichi Kihara (ชินอิจิ คิฮารา), Director General of Agency for Natural Resources and Energy, Ministry of Economy, Trade and Industry of Japan (อธิบดีกรมทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ประเทศญี่ปุ่น) เป็นสักขีพยาน ณ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
นายนรินทร์ เผ่าวณิช รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง กฟผ. กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า กฟผ. ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ ได้ให้ความสำคัญและสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านพลังงานไปสู่พลังงานสะอาดในทุกมิติ โดยร่วมกับบริษัท IHI Corporation บริษัทชั้นนำระดับโลกที่มีประสบการณ์ด้านการเปลี่ยนผ่านเชื้อเพลิงจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล รวมถึงการสร้างโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งที่เหมาะสมกับโรงไฟฟ้า ในการแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์การทำงาน องค์ความรู้ รวมทั้งศึกษาแนวทางด้านต่าง ๆ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้
กับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ในการมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี ค.ศ. 2065
ความร่วมมือในครั้งนี้ประกอบด้วย การศึกษาความเหมาะสมทางด้านเทคนิคและเศรษฐศาสตร์ เทคโนโลยีในการออกแบบโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง (wood pellets) การประเมินและเลือกรูปแบบของโรงงานผลิตที่เหมาะสม การประเมินองค์ประกอบและคุณสมบัติของ wood pellets รวมถึงมีการทดสอบการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งร่วมกับถ่านหินที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ซึ่งเป็นการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคการผลิตไฟฟ้าอย่างเป็นรูปธรรม และมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ของประเทศ