ตรัง : กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. เดินหน้าแก้ไขปัญหาชุมชนในที่ดินการรถไฟฯ ทั่วประเทศตาม ‘มติ ครม.14 มีนาคม 2566’ ในพื้นที่ 35 จังหวัด 300 ชุมชน จำนวน 27,084 ครัวเรือน ใช้งบประมาณรวม 7,718 ล้านบาทเศษ ในขณะที่ชาวชุมชนริมรางเมืองตรังที่รื้อย้ายออกจากแนวก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ จำนวน 4 โครงการ 166 ครัวเรือน ได้เช่าที่ดิน รฟท. เตรียมสร้างบ้านมั่นคง และพัฒนาคุณภาพชีวิต
ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 เห็นชอบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางรถไฟในพื้นที่ 35 จังหวัด 300 ชุมชน จำนวน 27,084 ครัวเรือน ใช้งบประมาณรวม 7,718 ล้านบาทเศษ โดยรัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ดำเนินการในปี 2566-2570 มีการจัดทำแผนงานรองรับที่อยู่อาศัยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง โดยให้พิจารณาช่วยเหลืองบประมาณการพัฒนาที่อยู่อาศัย ซึ่งมีชุมชนในพื้นที่จังหวัดตรังอยู่ในแผนงานโครงการ รวม 26 ชุมชน 1,206 ครัวเรือน
โดยในวันที่ 29 พฤษภาคม 2567 ที่ชุมชนชายเขาใหม่พัฒนา เทศบาลตำบลลำภูรา อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง มีการจัดงาน “สนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัย และคุณภาพชีวิตชุมชนเมืองตรัง จังหวัดตรัง” โดยมีนายวิชาญ ชัยเศรษฐสัมพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานในงาน มีผู้บริหารสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ผู้แทนจากหน่วยงานภาคี ประกอบด้วย การรถไฟแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรัง องค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง สำนักงานสหกรณ์จังหวัดตรัง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดตรัง การประปาส่วนภูมิภาค สาขาห้วยยอด กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายชุมชนเมืองนครศรีตรัง และผู้แทนเครือข่ายชุมชนริมรางภาคใต้ 9 จังหวัด เข้าร่วมงานประมาณ 400 คน
ในการจัดงานครั้งนี้รองผู้ว่าราชการจังหวัด ให้เกียรติมอบสัญญาเช่าที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทยและงบประมาณสนับสนุนโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง จำนวน 4 โครงการ 166 ครัวเรือน งบประมาณรวม 22,528,965 บาท ประกอบด้วย ชุมชนทางล้อ ชุมชนชายเขาใหม่พัฒนา ชุมชนหนองยวน 2 และชุมชนคลองมวน ซึ่งในการจัดงานในวันนี้มีพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน เพื่อสร้างความมั่นคงในที่ดิน ที่อยู่อาศัย และคุณภาพชีวิต จังหวัดตรัง 10 ฝ่าย และยกเสาเอกชุมชนชายเขาใหม่พัฒนา เทศบาลตำบลลำภูรา อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง รองรับผู้ได้รับผลกระทบ
นายวิชาญ ชัยเศรษฐสัมพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวเปิดงาน และมอบนโยบายสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัย และคุณภาพชีวิตชุมชนเมืองตรัง จังหวัดตรังว่า จังหวัดตรังพร้อมสนับสนุนผู้มีรายได้น้อย ส่วนใหญ่เข้ามาอยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟ ทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการรถไฟรางคู่ มีทั้งมติ ครม. มีมติบอร์ดการรถไฟ ที่พร้อมสนับสนุนพี่น้องที่ได้รับผลกระทบ มีการจัดสรรที่ดิน มีการจัดสัญญาเช่า มีการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่มั่นคง พร้อมพัฒนาชีวิต และชุมชนที่มาลงเสาเอกวันนี้ถือเป็นชุมชนแรกที่ลงเสาเอกในวันนี้
“ในช่วงที่ผ่านมาจังหวัดตรังมีการขับเคลื่อนงานดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง แต่อาจจะไม่ได้เป็นทางการมากนัก วันนี้เป็นมิติที่ดีเป็นจุดเริ่มต้นทำให้เห็นว่ารัฐบาล การรถไฟแห่งประเทศไทย และภาคีเค่อข่ายมาช่วยกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว ถือว่ามีหลากหลายกิจกรรม ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่มาร่วมกันและมาร่วมบูรณาการในการแก้ไขปัญหาผู้มีรายได้น้อยในจังหวัดตรังให้มีการพัฒนาที่อยู่อาศัยและมีคุณภาพชีวิตในชุมชนเมืองตรังต่อไป”
นางสาวสุมลฑา ขำณรงค์ ผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนเมืองนครศรีตรัง กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ทุกท่านให้เกียรติมาร่วมงานยกเสาเอก และท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดตรังร่วมเป็นประธาน และสักขีพยาน ในการทำบันทึกความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันนี้ ถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ส่งเสริมให้ประชาชนที่เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย ได้รับการสนับสนุนและแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในจังหวัดตรังร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น ตามนโยบายแก้ไขปัญหาความยากจน ลดเหลื่อมล้ำ อย่างที่เป็นธรรม การขับเคลื่อนของเครือข่าย
พอช. ร่วมบันทึกความร่วมมือ 10 ภาคี ร่วมบูรณาการการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน เพื่อสร้างความมั่นคงในที่ดิน ที่อยู่อาศัย และคุณภาพชีวิต จังหวัดตรัง
ในการทำความร่วมมือดังกล่าวนี้ เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยในชุมชนเมืองตรังมีที่ดิน ที่อยู่อาศัยที่มั่นคง และมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยบูรณาการหน่วยงานในระดับพื้นที่ ระดับนโยบาย และภาคีที่เกี่ยวข้อง วางแผนงานและสนับสนุนให้ผู้มีรายได้น้อย ในชุมชนเมืองตรังเข้าถึงสิทธิ สวัสดิการขั้นพื้นฐาน เกิดการพัฒนาพื้นที่ ด้านที่ดิน ด้านที่อยู่อาศัย และการพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกมิติ โดยร่วมกันเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรชุมชน ในการขับเคลื่อนงานให้บรรลุ ตามนโยบายรัฐบาลตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) ที่ต้องการให้คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพชีวิตที่ดี และให้บรรลุตามเป้าหมายโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจาการพัฒนาระบบรางที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการสนับสนุนโครงการ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 มีวัตถุประสงค์เพื่อประสานความร่วมมือ และบูรณาการแผนงานในการร่วมดำเนินการพัฒนาพื้นที่ด้านที่ดิน ที่อยู่อาศัย และคุณภาพชีวิต ในชุมชนเมืองตรัง จังหวัดตรัง ตามนโยบายรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคม และการสร้างโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการและบริการของรัฐ
จังหวัดตรัง มีผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง รวม 4 อำเภอ 13 ตำบล 26 ชุมชน 1,882 ครัวเรือน ได้แก่ (1) อำเภอห้วยยอด 12 ชุมชน 731 ครัวเรือน (2) อำเภอกันตัง 8 ชุมชน 440 ครัวเรือน (3) อำเภอเมืองตรัง 4 ชุมชน 331 ครัวเรือน (4) อำเภอรัษฎา 2 ชุมชน 380 ครัวเรือน มีโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมรางจังหวัดตรัง โดยได้รับการอนุมัติโครงการผ่านสหกรณ์บ้านมั่นคงพร้อมใจสัมพันธ์ตรัง จำกัด และได้รับมอบสัญญาเช่าที่ดินจากการรถไฟแห่งประเทศไทย เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2566 โดยราคาค่าเช่าที่ดิน อยู่ที่ 25 บาทต่อตารางเมตร/ปี จำนวน 4 ชุมชน ได้แก่ (1) ชุมชนหนองยวน 2 จำนวน 29 ครัวเรือน ราคาค่าเช่าที่ดินเฉลี่ย 1,587บาท/ปี/คร. (2) ชุมชนทางล้อ จำนวน 17 ครัวเรือน ราคาค่าเช่าที่ดินเฉลี่ย 1,820 บาท /ปี/คร. (3) ชุมชนคลองมวน จำนวน 48 ครัวเรือน ราคาค่าเช่าที่ดินเฉลี่ย 1,820 บาท/ปี/คร. (4) ชุมชนชายเขาใหม่พัฒนา (มาจาก 3 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนลำภูรา 1 , ชุมชนลำภูรา 2 (ทุ่งเขานุ้ย) , ชุมชนลำภูรา 3 (หลาหนองแค) ) จำนวน 72 ครัวเรือน ราคาค่าเช่าที่ดินเฉลี่ย 2,084 บาท/ปี/คร. ยกเว้นชุมชนหนองยวน 2 ราคาค่าเช่าอยู่ที่ 23 บาทต่อตารางเมตร/ปี ด้วยเป็นชุมชนเคยเช่าที่ดินมาก่อนตามนโยบายรัฐ รวมงบประมาณที่อนุมัติ 166 ครัวเรือน เป็นเงิน 22,582,965 บาท
พอช.เดินหน้าสร้างความเข้าใจชาวชุมชนริมรางทั่วประเทศ และพัฒนาที่อยู่อาศัยให้ชุมชนมั่นคง
นายสยาม นนท์คำจันทร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ไม่ได้ละเลย ได้มอบหมายให้ พอช. ดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากระบบราง ตามนโยบายรัฐบาลตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) ที่ต้องการให้คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพชีวิตที่ดี และให้บรรลุตามเป้าหมายโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจาการพัฒนาระบบรางที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการสนับสนุนโครงการ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 ประการแรก ให้ พอช. ดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัยร่วมกับขบวนองค์กร โดยให้พี่น้องชาวบ้านได้เช่าที่ดินกับการรถไฟฯ ตามมติคณะกรรมการบริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ ‘บอร์ด รฟท.’ เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2543 เห็นชอบข้อตกลงตามที่กระทรวงคมนาคมเจรจากับผู้แทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค คือ (1) ชุมชนที่อยู่นอกเขตทางรถไฟ 40 เมตร หรือที่ดิน รฟท.ที่เลิกใช้ หรือยังไม่มีแผนใช้ประโยชน์ ให้ชุมชนเช่าอยู่อาศัยระยะยาว 30 ปี (2) ที่ดินที่อยู่ในเขตทางรถไฟรัศมี 40 เมตรจากกึ่งกลางรางรถไฟ ชุมชนสามารถเช่าได้ครั้งละ 3 ปี และต่อสัญญาเช่าได้ครั้งละ 3 ปี หาก รฟท.จะใช้ประโยชน์จะต้องหาที่ดินรองรับในรัศมี 5 กิโลเมตร (3) กรณีชุมชนอยู่ในที่ดิน รฟท.รัศมี 20 เมตร หาก รฟท.เห็นว่าไม่เหมาะสมในการให้เช่าเป็นที่อยู่อาศัยระยะยาว ให้ รฟท.จัดหาที่ดินรองรับในรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตรจากชุมชนเดิม ฯลฯ ประการที่สอง ด้วยงบประมาณสนับสนุน 3 ส่วน คือ (1) การพัฒนาระบบสาธาณูปโภค (2) การพัฒนาที่อยู่อาศัย รัฐบาลสนับสนุน 30,000 บาท/ครัวเรือน (3) การขนย้าย เพื่อลดภาระหนี้สิน 70,000 บาท/ครัวเรือน กรณีไม่มีค่าขนย้าย สามารถที่จะนำมาใช้ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยได้ เป็นต้น
“ขณะนี้ พอช. อยู่ในระหว่างการจัดเวทีสร้างความเข้าใจกับผู้แทนชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางรถไฟ โดยภาคใต้มีการดำเนินงาน ใน 9 จังหวัด ได้แก่ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครราชศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส จำนวน 172 ชุมชน 15,168 ครัวเรือน วันนี้ขอแสดงความยินดีกับพี่น้องชุมชนชายเขาใหม่พัฒนา ที่ได้ลงเสาเอกและจะได้สร้างบ้านที่มั่นคงต่อไป ซึ่งพี่น้องเองกว่าจะมาถึงจุดนี้ต้องผ่านกระบวนการหารือพูดคคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ต้องใข้เวลาพอสมควร มาถึงวันนี้พวกเราต้องภาคภูมิใจในการพัฒนาของพี่น้องเรา”
ยกเสาเอกชุมชนชายเขาใหม่พัฒนา ชุมชนริมทางรถไฟสายใต้แห่งแรกที่ได้สัญญาเช่าจากที่ดินการรถไฟฯ ตามมติ ครม. วันที่ 14 มีนาคม 2566
ชุมชนชายเขาใหม่พัฒนา เป็นชุมชนที่มีการพัฒนาที่อยู่อาศัยในที่ดินรองรับใหม่ เดิมชุมชนชายเขาพัฒนาใหม่มีการเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่การรถไฟแห่งประเทศไทยในช่วงปี 2536 หลังจากนั้นในปี 2539 ได้มีสมาชิกบางส่วนถูกแจ้งดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกที่ดินการรถไฟฯ หลังจากนั้นในปี 2561 เริ่มมีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ชายเขาพัฒนา ประกอบไปด้วยสมาชิกที่อยู่ในที่ดินรถไฟจำนวน 3 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนลำภูรา ชุมชนทุ่งเขานุ้ย (ลำภูรา2) ชุมชนหลาหนองแค (ลำภูรา3) เพื่อจะขอเช่าที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทยอย่างถูกต้อง และเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายตั้งแต่ปี 2561 ร่วมกับเครือข่ายพัฒนาสิทธิชุมชนภาคใต้ต่อมาในปี 2564 ซึ่งการรถไฟฯ เสนอให้ขอเช่าพื้นที่ติดกับสนามกีฬาเก่า ซึ่งสมาชิกเกิดความกังวลเกี่ยวกับความเหมาะสมในพื้นที่ ชุมชนจึงร่วมกันหาพื้นที่ดินแปลงใหม่และเสนอเช่าแปลงพื้นที่ปัจจุบันและจะใช้ชื่อชุมชนว่า “ชุมชนชายเขาพัฒนาใหม่” ขนาดเนื้อที่เช่ารวม 3 ไร่ 3 งาน ระยะเวลาเช่า 3 ปี รองรับสมาชิก 73 ครัวเรือน ถือเป็นชุมชนแรกที่ได้ลงเสาเอกตามโครงการดังกล่าว ตั้งแต่ ครม. 14 มี.ค. 2566 ผ่านมาปีกว่า ใช้เวลาในการสำรวจข้อมูล ใช้เวลาในการร่วมคิดร่วมกันในการปรับปรุง ใช้เวลาคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องค่อนข้างมาก
นางสาวสุมลฑา ขำณรงค์ ผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนเมืองนครศรีตรัง กล่าวเพิ่มเติมว่า กว่าที่จะมีวันนี้ สิ่งที่เราขาดไม่ได้เลยคือสมาชิกในชุมชน ที่รวมตัวกันช่วยเหลือดูแลคนที่ไม่มีที่อยู่อาศัย ส่วนตัวไม่ได้อยู่ที่ตรงนี้โดยตรง แต่อยากจะช่วยพี่น้องในเรื่องที่ดินรถไฟ เพราะตนเองก็อาศัยอยู่ริมรางเหมือนกัน ที่มาทํางานตรงนี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับที่ดินรถไฟแต่ทําด้วยใจทําด้วยใจรัก อยากจะช่วยพี่น้อง เพราะส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ถือว่าพวกเราร่วมชะตากรรมเดียวกัน มันต้องเดินร่วมกัน เราต้องสู้ วิธีการไหนที่เราช่วยได้เราก็ช่วย จะพูดกับพี่น้องชาวบ้านตลอดว่า พวกเราต้องเก็บเงิน ต้องออมเงิน 200-300 บาท เพื่อมาเช่าที่ดินกับทางรถไฟฯ ทําให้ถูกกฎหมาย ทุกคนก็ต้องมีสัจจะต่อตัวเอง มีการผ่อนส่งให้ถูกต้องตามวาระที่เราวางแผนไว้ และให้เวลากับชาวบ้าน ไม่กดดันเราจะยืดหยุ่นเวลาเอื้อเฝื้อผ่อนให้ชาวบ้านเพื่อที่ได้มีที่อยู่อาศัยอย่างมั่นคง
ด้านนายสุนทร พูลแก้ว สารวัตรแขวงบำรุงทางทุ่งสง กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ได้มาร่วมกิจกรรม เหมือนงานขึ้นบ้านใหม่ของชุมชนชายเขาใหม่พัฒนา การรถไฟฯ เอง ก็ช่วยเหลือมาถึงเวลานี้แล้ว ก็เป็นเวลาหลายปี จากที่เขาเคยอยู่ลําบาก หาเช้ากินค่ำ แทบจะไม่มีโอกาสได้ที่ดินและบ้านแบบที่จะเกิดขึ้นนี้ ต่อไปความเป็นอยู่ของพวกเขาก็จะดีขึ้นแน่นอน
“ณ จุดนี้เป็นความภาคภูมิใจ อยากขอบคุณ ถ้าไม่มีหน่วยงานของรัฐหลายๆ หน่วยงานมาช่วยกัน รวมถึงผู้บริหารการรถไฟรวมถึงกระทรวงคมนาคมมาช่วย มันก็ไม่มีวันนี้เกิดขึ้น แล้วก็คาดหวังว่าชุมชนบ้านมั่นคงในโครงการนี้ ของ พอช. จะเติบโต แล้วก็มีสมาชิกเพิ่มขึ้นให้อยู่ถูกต้องนะครับตามกฎหมายโดยพี่น้องไม่ต้องมานั่งหวาดระแวงเพราะเมื่อไหร่เขาจะมาขับไล่ นี่เป็นสิ่งที่ดีที่สุด ขอบคุณทุกทุกคนที่มาในงานวันนี้ และหวังว่างานวันหน้าต้องเร็วและดีขึ้นไป”
ลุงดำรงค์ ใจทรง สมาชิกในชุมชน ชุมชนชายเขาใหม่พัฒนา เล่าว่า ที่อยู่แบบเก่า ไม่มั่นคง บางทีต้องทนร้อน ตากแดด ตากฝน นั่งรถบัสกันไป เพื่อที่จะให้ต่อสู้เพื่อให้ได้มีบ้าน มาถึงวันนี้รู้สึกภูมิใจตัวเองมาก ที่มันมาถึงวันนี้จริงๆ วันที่จะได้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง ต้องขอขอบคุณจริงๆ
เครือข่ายสลัม 4 ภาค ระบุชุมชนชายเขาใหม่พัฒนา เป็นชุมชนนำร่อง
นางสาวนพพรรณ พรหมศรี เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) ระบุว่า ชุมชนชายเขาใหม่พัฒนาเป็นพื้นที่ของชุมชนริมทางรถไฟจังหวัดตรัง ตอนนี้ได้เช่าที่ดินจากการรถไฟฯ แล้ว โดยพี่น้องเครือข่ายสลัม 4 ภาค และเครือข่ายคนจนเมืองที่อาศัยอยู่บนพื้นที่ริมทางรถไฟ ได้ร่วมกันไปนําเสนอกับการรถไฟฯ กับ พอช. ว่าอยากจะให้มีการสนับสนุนการแก้ปัญหา และอยากจะมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง อยากจะเช่าที่ดินถูกต้องตามกฎหมายแล้วก็เป็นไปตามนโยบายของการรถไฟฯ ด้วย ในช่วงที่ผ่านมาได้มีการร่วมกันสํารวจข้อมูลชุมชนที่ได้รับผลกระทบทั้งประเทศ พบว่า มีผู้ได้รับผลกระทบ 35 จังหวัด ประมาณ 300 ชุมชน 20,000 กว่าครอบครัว ก็เลยเริ่มกระบวนการพัฒนาชุมชน จัดวงพูดคุย ทําความเข้าใจและเตรียมคยามพร้อมกับชุมชน ถ้าจะทําเรื่องที่อยู่อาศัยมั่นคง มันจะต้องทําขั้นตอนอย่างไรบ้าง แล้วก็นํามาสู่ของการยื่นเช่ากับรถไฟ พอทางการรถไฟให้สัญญาเช่าแล้ว พอช. ก็จะมาสนับสนุนเรื่องกระบวนการและสนับสนุนงบประมาณในการจัดทําโครงการบ้านมั่นคงร่วมกับชุมชน ให้ชุมชนเป็นหลักในการลุกขึ้นมาพัฒนาที่อยู่อาศัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตของตัวเอง
“จังหวัดตรัง ก็เป็นพื้นที่ที่เพิ่งจะได้สัญญาเช่า แล้วก็จะเดินหน้าทําโครงการบ้านมั่นคงอันนี้ก็เป็นความสําเร็จของพี่น้อง หลายหน่วยงานให้ความร่วมมือโดยเฉพาะทางจังหวัด รองผู้ว่าฯ จ.ตรัง ก็มาเป็นสักขีพยานเป็นประธานในการลงนามความร่วมมือ แล้วก็มีหลายภาคส่วนหลายหน่วยงานมาสนับสนุนก็คือถ้ามันเกิดการจัดการที่อยู่อาศัยโดยชุมชนบนพื้นที่ริมทางรถไฟ ก็จะเป็นตัวอย่างให้กับหลายๆ ชุมชน พอมองดูแล้วเห็นความสําเร็จ เขาก็อยากจะเข้ามาร่วมเข้ามาแก้ปัญหา และก็อาจจะทั้งเมืองในจังหวัดตรัง ที่อยู่บนพื้นที่ริมทางรถไฟ ก็จะมีโอกาสในการมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงก็พัฒนาร่วมกันทั้งเมืองในจังหวัดตรังนั่นเอง”
‘คนริมรางตรัง’ ประกาศเจตนารมณ์แก้ปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัย
ในตอนท้ายของการจัดงานครั้งนี้ เครือข่ายชุมชนนครศรีตรัง ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ ในการทำงานร่วมกับหน่วยงาน เพื่อสร้างความมั่นคงที่ดิน ที่อยู่อาศัย และคุณภาพชีวิตในชุมชนเมืองตรัง จังหวัดตรัง โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ 1. พวกเราจะยกระดับการพัฒนาองค์กรชุมชน เครือข่ายองค์กรชุมชน ให้มีความเข้มแข็ง 2. ขับเคลื่อน และเชื่อมโยงการแก้ไขปัญหา และพัฒนาที่ดิน ที่อยู่อาศัย คุณภาพชีวิตทุกมิติ ทั้งเชิงพื้นที่ และประเด็นงานอย่างเป็นขบวนการ 3. สร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การจัดการความรู้ ที่ได้จากงานพัฒนาที่หลากหลายร่วมกัน เพื่อจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนางานให้ดียิ่งขึ้น 4. พัฒนาระบบการบริหารจัดการโครงการ และงบประมาณที่มีธรรมาภิบาล เปิดเผยโปร่งใส มีระบบการรายงานผล ติดตาม ระบบการหนุนเสริมระหว่างกัน
“พวกเราจะร่วมกันส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วม และการจัดการร่วมของชุมชนในการแก้ไขและพัฒนาที่ดิน ที่อยู่อาศัย และคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยในชุมชนเมืองตรัง ส่งต่อให้ลูกหลานมีความมั่นคงในชีวิต มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เป็นที่ยอมรับของสังคมอย่างเท่าเทียม”