กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สนธิกำลังกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา บุกตรวจฟิลอก้า คลินิก หลังได้รับเบาะแสมีผู้ได้รับผลกระทบจากการฉีดฟิลเลอร์ จนใบหน้าผิดรูป พบสารเสริมความงามและเครื่องสำอางที่ไม่ผ่าน อย.หลายรายการ จึงสั่งยึดของกลางทั้งหมดพร้อมดำเนินการตามกฎหมายทันที
วันที่ 22 สิงหาคม 2562 นายแพทย์ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า จากกรณีที่กรม สบส.ได้รับเบาะแสว่ามีผู้ได้รับผลกระทบจากการฉีดสารเสริมความงาม จนทำให้เกิดอาการอักเสบ รูปหน้าเสียทรง จากคลินิกแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ในย่านบางกะปินั้น ตนจึงได้สั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของกองกฎหมาย และสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ที่ผ่านมา พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรม สบส.ได้ร่วมสนธิกำลังกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ลงพื้นที่ตรวจสอบคลินิกดังกล่าว คือ “ฟิลอก้า คลินิก ไทยแลนด์” ตั้งอยู่ ณ แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ โดยการตรวจสอบพบว่าสถานพยาบาลดังกล่าวมีการขออนุญาตประกอบกิจการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งแพทย์ผู้ให้บริการก็มีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมถูกต้อง แต่กลับพบยาและเครื่องสำอางหลายรายการที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ อย.อยู่ภายในคลินิกฯ พนักงานเจ้าหน้าที่ฯจึงได้แจ้งข้อหาการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 แก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องฐานจำหน่ายยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งของกลางประเภทยาเวชภัณฑ์และเครื่องสำอาง อย. จะนำไปตรวจวิเคราะห์ส่วนประกอบเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ตนขอเน้นย้ำให้ผู้ประกอบกิจการ และผู้ดำเนินการสถานพยาบาลทุกคน ดูแลกำกับ ให้ปฏิบัติตามกฎหมายสถานพยาบาล และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด หากพบว่าสถานพยาบาลแห่งใดมีการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน กรม สบส.จะดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายโดยไม่มีการละเว้นแต่อย่างใด
นายแพทย์ณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า สำหรับการเสริมความงามด้วยวิธีการฉีดสารเสริมความงาม อาทิ โบท็อกซ์ (Botox) ฟิลเลอร์ (Filler) นั้น ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน อาจจะด้วยการที่ผู้รับบริการเห็นว่าเป็นวิธีที่สะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องอาศัยการผ่าตัด และใช้เวลาพักฟื้นไม่นาน แต่ไม่ว่าจะเป็นการเสริมความงามด้วยวิธีใดก็ตามย่อมมีความเสี่ยงเฉพาะตัว อย่างกรณีข้างต้นหากฉีดสารเสริมความงามที่มิได้ผ่านการอนุมัติและขึ้นทะเบียนจาก อย. ก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อ การแพ้ และเกิดพิษต่อร่างกายได้ ดังนั้น ก่อนรับบริการทางแพทย์ทุกครั้งจะต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนไม่อาศัยเพียงคำโฆษณา คำวิจารณ์ หรือราคาที่ถูกมาเป็นหลักในการตัดสินใจรับบริการ ต้องตรวจสอบหลักฐานทั้งสถานพยาบาลและแพทย์ว่ามีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ และหากเป็นการฉีดสารเสริมความงามประชาชนก็ควรขอดูกล่องและฉลากของสารเสริมความงามจากแพทย์ว่าผ่านการขึ้นทะเบียนกับ อย.หรือไม่
ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการรับบริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลเอกชน/คลินิก ในเขตกรุงเทพฯ สามารถแจ้งได้ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน กรม สบส. ทางหมายเลขโทรศัพท์ 02 193 7057 หรือเฟซบุ๊ก (Facebook) : ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน สบส. กระทรวงสาธารณสุข หรือ E-mail : crmhss.moph@gmail.com แต่หากอยู่ในส่วนภูมิภาคสามารถแจ้งได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ ตามวันและเวลาราชการ