วันที่ 28 พฤษภาคม 2567 เวลา 09.00 น. นายกันตพงศ์ รังษีสว่าง อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเครือข่ายช่วยเหลือเหยื่อทุ่นระเบิดระดับภูมิภาค (Inception Meeting on The Regional Workshop On Victim Assistance Programme) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 – 30 พฤษภาคม 2567 โดยมีผู้แทนศูนย์ทุ่นระเบิดภูมิภาคอาเซียน (ARMAC) กองทุนความร่วมมืออาเซียน–เกาหลีใต้ (ASEAN-ROK Cooperation Fund) ผู้แทนประเทศอาเซียน 10 ประเทศ ผู้ประสบภัยทุ่นระเบิดจาก 5 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากทุ่นระเบิด ได้แก่ ไทย ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และคณะผู้แทนประเทศไทย ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง จำนวน 130 คน เข้าร่วมงาน ณ โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ สุขุมวิท 20
นายกันตพงศ์ กล่าวว่า ในนามของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และตัวแทนประเทศไทย มีความยินดีและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นเจ้าภาพร่วมกับศูนย์ทุ่นระเบิดภูมิภาคอาเซียน (ARMAC) ในการจัดประชุมครั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการดำเนินงานด้านเครือข่ายการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยทุ่นระเบิดและกำหนดแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยทุ่นระเบิดในภูมิภาคอาเซียน กระทรวง พม. โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) เป็นองค์กรหลักที่ประสานงานด้านคนพิการของประเทศไทย ส่งเสริมให้คนพิการเข้าถึงสิทธิ สวัสดิการ อย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และเป็นธรรมอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (CRPD) ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันไว้เมื่อปี 2551 รวมถึง SDGs ในประเด็นที่เกี่ยวข้อง และอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล นอกจากนี้ กระทรวง พม. พก. ได้ขับเคลื่อนงานด้านคนพิการของประเทศไทย โดยเน้นให้ความสำคัญกับคนพิการมีส่วนร่วมในทุกระดับไม่ว่าจะเป็นระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ โดยยึดหลักตามแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติภายใต้แนวคิด “EQUAL” มุ่งมั่นเพื่อคุณภาพชีวิตที่เท่าเทียม
นายกันตพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดของประเทศไทยนั้น กระทรวง พม. โดย พก. ได้ดำเนินงานร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (TMAC) ภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และท้องถิ่น ในการช่วยเหลือ และสนับสนุนให้ผู้ประสบภัยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงสนับสนุนตามสิทธิและสวัสดิการคนพิการ อาทิ การปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย การสนับสนุนรถโยกสำหรับคนพิการ การมอบสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภค และเงินสงเคราะห์เพื่อช่วยเหลือในระยะแรกเริ่ม ในโอกาสนี้ ผมขอขอบคุณศูนย์ทุ่นระเบิดภูมิภาคอาเซียน (ARMAC) และขอขอบคุณผู้แทนที่เกี่ยวข้องกับด้านทุ่นระเบิดในประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ สำหรับความร่วมมือในการประชุมเชิงปฏิบัติการเครือข่ายช่วยเหลือเหยื่อทุ่นระเบิดระดับภูมิภาคครั้งนี้
สำหรับกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การนำเสนอภาพรวมและแผนงานระหว่างปี 2023 – 2027 ของ ARMAC การนำเสนอภาพรวมและภารกิจของกระทรวง พม. พก. และภาคีเครือข่าย การอภิปรายกลุ่มเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการเครือข่ายช่วยเหลือผู้ประสบภัยระดับภูมิภาค การบรรยายเรื่อง ‘MAS 13.10 และแนวทางบูรณาการการช่วยเหลือผู้ประสบภัย’ และการนำเสนอแนวทางระดับชาติหรือมาตรการที่เกี่ยวข้องกับโครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทุ่นระเบิดในระดับประเทศหรือระดับภูมิภาคและเสียงของผู้ประสบภัยในประเทศต่างๆ