สทนช.บูรณาการวางแผนเชิงรุกรับมือฤดูฝนลุ่มน้ำเจ้าพระยาพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ เผยปรากฏการณ์ลานีญาเริ่มชัดเจนมากขึ้น คาดฝนตกหนักช่วงปลายฤดูเดือน ส.ค.-ก.ย. เตรียมจัดจราจรการระบายน้ำ ใช้พื้นที่บางระกำ บึงราชนก และบึงบอระเพ็ด เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด พร้อมดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมบริหารจัดการน้ำและสร้างการรับรู้ที่ถูกต้อง
นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะโฆษก สทนช. เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาว่า ภายหลังจากกรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศให้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 พ.ค.67 ที่ผ่านมา สถานการณ์ฝนได้ตกเพิ่มขึ้นและตกหนักบางแห่ง อย่างไรก็ตามในพื้นภาคเหนือซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำของ 4 เขื่อนใหญ่ (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ยังมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนไม่มากหนัก น้อยกว่าปริมาณน้ำที่ระบายออก เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ปริมาณความชื้นในดินยังไม่อิ่มตัว ฝนที่ตกลงมาจะซึมลงในดินเกือบทั้งหมด ทำให้มีปริมาณน้ำท่าที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำยังน้อยกว่าปริมาณน้ำที่ระบายออก โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 27 พ.ค. 67 ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนใหญ่ มีปริมาณรวมกันอยู่ที่ 10,249 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 41% ของปริมาณความจุ ยังสามารถรองรับน้ำได้อีก 14,622 ล้าน ลบ.ม.
ทั้งนี้คาดการณ์ว่า ตั้งแต่เดือน มิ.ย.67 เป็นต้นไป ความชื้นในดินจะเริ่มอิ่มตัว และปรากฏการณ์ลานีญาจะชัดเจนมากขึ้น ปริมาณฝนจะตกสูงกว่าค่าเฉลี่ย โดยเฉพาะในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. 67 อาจเกิดภาวะน้ำเหนือไหลหลากท่วมในบางพื้นที่ได้ ซึ่งจะทำให้มีปริมาณน้ำท่าไหลลงอ่างเก็บน้ำของเขื่อนทั้ง 4 แห่งดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจะต้องวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างรอบคอบ คาดว่าหลังจากสิ้นฤดูฝนในวันที่ 1 พ.ย. 67 ปริมาณน้ำในเขื่อนทั้ง 4 แห่ง เฉลี่ยจะมีประมาณ 17,183 ล้าน ลบ.ม. โดยเป็นปริมาณน้ำที่ใช้การได้ 10,487 ล้าน ลบ.ม.
รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยลุ่มเจ้าพระยาซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ “อู่ข้าวอู่น้ำ” ของประเทศ สทนช.ได้เน้นย้ำให้บริหารจัดการน้ำภาพรวมทั้งลุ่มน้ำ โดยได้แจ้งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 ของรัฐบาล และให้คณะกรรมการลุ่มน้ำประสานและกำชับหน่วยงานปฏิบัติในพื้นที่ให้ดำเนินการตามมาตรการอย่างเคร่งครัด รวมทั้งเร่งจัดทำแผนปฏิบัติการและรายงานผลการดำเนินงานให้ สทนช. ทราบอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งได้กำชับให้กรมชลประทานจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่แก้มลิง ตามมาตรการที่ 2 ทบทวน ปรับปรุง เกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำ อาคารควบคุมบังคับน้ำอย่างบูรณาการทั้งในระดับลุ่มน้ำและกลุ่มลุ่มน้ำ โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ให้หลักการคือการบูรณาการหน่วงน้ำไว้ในพื้นที่ตอนบนให้ได้มากที่สุด แล้วค่อยๆ ปล่อยลงมาพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง “เริ่มจากทุ่งบางระกำ จำนวน 265,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ จ.สุโขทัย และ จ.พิษณุโลก ที่ได้ดำเนินโครงการบางระกำโมเดลจนประสบความสำเร็จต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 แล้ว ซึ่งมีการปรับปฏิทินการปลูกข้าวนาปีใหม่ให้สามารถเก็บเกี่ยวได้ก่อนถึงฤดูน้ำหลาก ทั้งนี้ กรมชลประทานได้จัดสรรน้ำให้เกษตรกรทุ่งบางระกำเริ่มปลูกข้าวนาปีตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 67 เป็นต้นไป เพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวได้ภายในวันที่ 1-15 ส.ค. 67 หลังจากนั้นจะใช้เป็นพื้นที่รองรับน้ำหลาก สามารถตัดยอดน้ำได้ประมาณ 400 ล้าน ลบ.ม. และจะเริ่มระบายน้ำออกในเดือน พ.ย. 67 แต่เหลือน้ำไว้ความลึกประมาณ 30 เซนติเมตร เพื่อใช้ในการเตรียมแปลงสำหรับปลูกข้าวนาปรัง ปี 2567/68 ซึ่งการรับน้ำเข้าไปกักเก็บไว้ในทุ่งนั้น นอกจากจะช่วยตัดยอดน้ำ บรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เศรษฐกิจและพื้นที่สำคัญๆ แล้ว ยังช่วยเติมสารอาหารสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน ลดการใช้ปุ๋ยเคมี คุณภาพน้ำในพื้นที่นาดีขึ้น ช่วยตัดวงจรการระบาดของแมลงศัตรูข้าว ทำให้ต้นทุนการปลูกข้าวในฤดูกาลถัดไปลดลง รวมทั้งยังสร้างอาชีพเสริมจากการทำประมงน้ำจืดอีกด้วย”
รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวนอกจากนี้ สทนช.ยังจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการใช้บึงราชนก จ.พิษณุโลก เป็นแก้มลิงในการหน่วงน้ำตัดยอดน้ำเก็บกักได้ประมาณ 28.85 ล้าน ลบ.ม. เช่นเดียวกับบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ จะใช้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำตัดยอดน้ำ โดยจะผันน้ำเข้าไปเก็บกักไว้ให้เต็มศักยภาพได้อีกประมาณ 100 ล้าน ลบ.ม. และเมื่อมวลน้ำลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง จะวางแผนจัดจราจรการระบายน้ำ โดยจะใช้เขื่อนเจ้าพระยาหน่วงน้ำ เร่งระบายน้ำและผันน้ำส่วนหนึ่งออกฝั่งตะวันออกผ่านคลองชัยนาท-ป่าสัก และฝั่งตะวันตกผ่านคลองมะขามเฒ่า แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำน้อย พร้อมการลงพื้นที่สร้างการมีส่วนร่วมและสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ด้วย
“สทนช. จะติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามมาตรการรับมือฤดูฝนจากทุกหน่วยงานอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผลการเพาะปลูกข้าวนาปี ที่กรมชลประทานและสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า ได้รายงานผลการเพาะปลูกให้ทราบเป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างเหมาะสมต่อไป” รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวในตอนท้าย