วันที่ 27 พฤษภาคม 2567 ที่ห้องประชุมชั้น 8 อาคาร 24 มทร.สุวรรณภูมิ ศูนย์พระนครศรีอยุธยา หันตรา นพ.ยุทธนา วรรณโพธิ์กลาง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานเปิดโครงการอบรมผู้ประกอบการโรตีสายไหม โดยมี เภสัชกรเทพศักดิ์ อังคณาวิศัลย์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าววัตถุประสงค์ของการอบรม มีผู้ประกอบการร้านค้าโรตีสายไหม ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 70 คน เข้าร่วมการอบรม และได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.วิจิตรา เหลียวตระกูล คณบดี คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ผศ.พาขวัญ ทองรักษ์ รองคณบดี คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร และคณาจารย์ เข้าร่วมโครงการ
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ วิทยาเขตหันตรา จัดอบรมผู้ประกอบการโรตีสายไหมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการโรตีสายไหมให้มีความรู้ในการควบคุมกรรมวิธีการผลิตให้สะอาด ลดการปนเปื้อนจากเชื้อจุลินทรีย์และอบรมความรู้เกี่ยวกับการใช้สารกันเสียที่ถูกต้องเป็นไปตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด พร้อมทั้ง นำเสนอผลการตรวจวิเคราะห์เชื้อจุลินทรีย์ ในกระบวนการผลิตและน้ำที่ใช้เป็นส่วนผสมที่ได้จากการสุ่มตัวอย่างของร้านโรตีในจังหวัดเพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้ประกอบการนำมาพัฒนากระบวนการผลิตต่อไป
นพ.ยุทธนา วรรณโพธิ์กลาง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า โรตีสายไหม ถือเป็นของฝากขึ้นชื่อของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งนักท่องเที่ยวนิยมเลือกซื้อเป็นกันอย่างแพร่หลาย สร้างชื่อเสียงและรายได้ให้แก่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นอย่างมาก แต่เนื่องจากแผ่นแป้งโรตีสายไหมนั้น มีอายุการเก็บรักษาสั้น มีโอกาสการบูดเสียก่อนถึงมือผู้บริโภค จึงทำให้ผู้ประกอบการใส่สารกันเสียเพื่อยืดอายุการเก็บรักษา ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการโรตีสายไหมและการท่องเที่ยวในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นอย่างมาก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงได้ดำเนินการตรวจสอบและเฝ้าระวังสารกันเสียในแผ่นแป้งโรตีสายไหมมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีงบประมาณ 2566 ที่ผ่านมา กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุขได้สุ่มเก็บตัวอย่างแผ่นแป้งโรตีสายไหม จำนวน 42 ตัวอย่าง ส่งตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารกันเสีย(โซเดียมเบนโซเอท) ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จำนวน พบแผ่นแป้งโรตีสายไหมที่มีการใช้สารกันเสียเกินเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ถึงจำนวน 14 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 33.33 แสดงให้เห็นว่าการใช้สารกันเสียในแผ่นแป้งโรตีสายไหมเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการแก้ไขเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค จึงได้ร่วมมือกับ มทร.สุวรรณภูมิ ศูนย์พระนครศรีอยุธยา จัดการอบรมในครั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความรู้ในการควบคุมกรรมวิธีการผลิตให้สะอาด ลดการปนเปื้อนจากเชื้อจุลินทรีย์และอบรมความรู้เกี่ยวกับการใช้สารกันเสียที่ถูกต้องเป็นไปตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด พร้อมทั้ง นำเสนอผลการตรวจวิเคราะห์เชื้อจุลินทรีย์ ในกระบวนการผลิตและน้ำที่ใช้เป็นส่วนผสมที่ได้จากการสุ่มตัวอย่างของร้านโรตีในจังหวัดเพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้ประกอบการนำมาพัฒนากระบวนการผลิตต่อไป