สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) : วันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม 2567 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) จัดประชุมคณะกรรมการสถาบัน ครั้งที่ 5/2567 โดยมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ เข้าร่วมประชุมกว่า 40 คน ทั้งระบบ Onsite และ Online ผ่านระบบ Zoom ณ ห้องประชุม 301-302 พอช.
ตามที่นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้เผยข่าวดี พม. ลดดอกเบี้ยบ้าน พอช. 0.5% เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พม. กล่าวถึงการเสนอให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ลดอัตราดอกเบี้ยกู้บ้าน ซึ่งในขณะนี้ดอกเบี้ยสำหรับบ้านในโครงการของ พอช. นั้น คือ ร้อยละ 6 โดยจ่ายให้กับทาง พอช. ร้อยละ 4 และจ่ายให้กับทางสหกรณ์ที่พี่น้องประชาชนรวมตัวกันอีก ร้อยละ 2 ดังนั้นในส่วนของอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ที่ทาง พอช. ดูแลอยู่นั้น ทางคณะทำงานของ พอช. ได้ศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการที่จะลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งได้มีความเห็นสอดคล้องกับนโยบายที่ตนเสนอ คือลดอัตราดอกเบี้ยลง ร้อยละ 0.5 ทำให้ลงมาเหลือร้อยละ 3.5 ภายในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งแนวทางนี้จะนำเข้าสู่คณะกรรมการหรือบอร์ดของ พอช. ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งคาดว่าจะมีข่าวดีมามอบให้กับพี่น้องประชาชนภายในเดือนพฤษภาคมนี้ด้วย ทั้งนี้ การลดดอกเบี้ยนั้นต้องมีเงื่อนไขเช่นกัน อาทิ ต้องเป็นลูกหนี้ที่ไม่ผิดนัดการชำระหนี้ และปฏิบัติตามกติกาต่างๆ ที่ทาง พอช. กำหนด เป็นต้น
วันที่ 24 พฤษภาคม 2567 คณะกรรมการสถาบัน หรือ บอร์ด พอช. มีมติจากการประชุมคณะกรรมการสถาบันฯ ครั้งที่ 5/2567 ปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อ ร้อยละ 0.50 ต่อปี เป็นระยะเวลา 1 ปี กลุ่มเป้าหมาย 465 องค์กร 68,607 ครัวเรือน ประกอบด้วย (1) องค์กรผู้ใช้สินเชื่อทุกประเภทสินเชื่อ ที่ไม่เป็นหนี้ผิดนัดเกินกว่า 3 เดือนขึ้นไป และไม่อยู่ระหว่างการดำเนินคดี และ (2) องค์กรผู้ใช้สินเชื่อที่ได้รับการอนุมัติ และเบิกจ่ายสินเชื่อในช่วงระหว่างระยะเวลาที่ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยมีเงื่อนไข เฉพาะองค์กรผู้ใช้สินเชื่อที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้แก่สมาชิกในสัดส่วนเดียวกันกับที่สถาบันปรับลดให้ และต้องจัดทำเอกสารแสดงความจำนงให้ความร่วมมือและดำเนินการ รวมงบประมาณที่ใช้ในการสนับสนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อครั้งนี้ประมาณ 22.92 ล้านบาท
นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช. กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการสถาบัน ระบุว่า เนื่องจากภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศไทยภายหลังการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ ประกอบกับสถานการณ์โลกในปัจจุบันที่มีความเสี่ยง ทั้งความขัดแย้งที่ส่งผลถึงความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ตลอดจนภูมิอากาศแปรปรวนส่งผลต่อภัยพิบัติที่เกิดขึ้นรุนแรงต่อเนื่อง ทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยน้อยกว่าที่คาดการณ์ ส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงประชาชนในระดับครัวเรือนทั้งในด้านการประกอบอาชีพและด้านค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ทำให้มีรายได้ต่ำ รายจ่ายสูง และมีหนี้สินภาคครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น รัฐบาลจึงสั่งการให้หน่วยงานภาครัฐและขอความร่วมมือภาคเอกชนเร่งดำเนินการตามนโยบายต่างๆ เช่น โครงการ Digital Wallet เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และการปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อบรรเทาภาระหนี้ให้แก่ประชาชน ประกอบกับสมาชิกขององค์กรผู้ใช้สินเชื่อในหลายชุมชน มีข้อเสนอต่อ พอช. ผ่านช่องทางการตั้งกระทู้ในสภาผู้แทนราษฎร และผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อให้ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนโดยการขอปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อ ซึ่งที่ผ่านมา พอช. ได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับลด เพื่อให้เกิดประโยชน์โดยตรงแก่สมาชิกขององค์กรผู้ใช้สินเชื่อ ทั้งด้านการช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย และด้านการสร้างแรงจูงใจให้เกิดวินัยในการชำระคืนสินเชื่อ รวมทั้งศึกษาผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของ พอช.
“ในช่วง พ.ศ. 2563 -2566 พอช. ได้มีมาตรการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยลดภาระหนี้ให้แก่องค์กรผู้ใช้สินเชื่อและสมาชิกอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่องค์กรผู้ใช้สินเชื่อตามระเบียบสถาบัน โดยมีการดำเนินการอีก 2 มาตรการ คือ 1) การพักชำระหนี้โดยไม่คิดดอกเบี้ยในระหว่างระยะเวลาการพักชำระ ช่วงระหว่างเดือนเมษายน – กันยายน 2563 ให้แก่องค์กรผู้ใช้สินเชื่อ 409 องค์กร 123,685 ครัวเรือน และช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม – ธันวาคม 2564 ให้แก่องค์กรผู้ใช้สินเชื่อ 291 องค์กร 20,586 ครัวเรือน และ 2) การคืนดอกเบี้ยให้แก่องค์กรผู้ใช้สินเชื่อที่มีการชำระคืนเป็นปกติ ตามโครงการสร้างแรงจูงใจให้กับองค์กรผู้ใช้สินเชื่อที่มีวินัยในการชำระคืน ซึ่งดำเนินการระหว่างปี 2563 – 2566 รวมงบประมาณที่คืนให้แก่องค์กรผู้ใช้สินเชื่อแล้ว ประมาณ 63.37 ล้านบาท”
ในการนี้ พอช. โดยส่วนงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการศึกษาเรื่องกลุ่มเป้าหมาย แนวทางการปรับลดอัตราดอกเบี้ย การประเมินผลกระทบต่อสถานะทางการเงิน แนวทางการลดผลกระทบ การเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ย และดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากตัวแทนเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน รวมทั้งเสนอผลการประมาณการเงินทุนสถาบันและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่อคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะตามอำนาจหน้าที่
ตลอดจนการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องการลดอัตราดอกเบี้ย และการบริหารส่วนต่างดอกเบี้ย ร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นผู้แทนเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน 5 ภาค ผู้แทนเครือข่ายความร่วมมือพัฒนาระหว่างชุมชนบนพื้นที่สำนักงานทรัพย์สิน (คพชส.) เครือข่ายพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อมคูคลอง (คพสค.) ผู้แทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค ผู้แทนตัวแทนองค์กรผู้ใช้สินเชื่อ กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ รวมการประชุมทั้ง 3 ครั้ง ตั้งแต่เดือนมีนาคม – ต้นพฤษภาคม โดยมีความเห็นดังนี้ (1) เห็นด้วยกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้แก่องค์กรผู้ใช้สินเชื่อ ซึ่งทำให้เกิดประโยชน์โดยตรงแก่สมาชิก และเห็นว่า พอช. อาจเพิ่มเติมการช่วยเหลือ โดยเพิ่มงบประมาณการคืนดอกเบี้ยสินเชื่อให้แก่องค์กรผู้ใช้สินเชื่อที่มีวินัยในการชำระคืน ซึ่งทำให้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อสามารถนำเงินคืนที่ได้รับไปดำเนินการในเรื่องต่างๆ ที่เกิดประโยชน์ส่วนรวมภายในองค์กร/โครงการ ทั้งนี้ พอช. ควรคำนึงถึงผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของสถาบันประกอบด้วย (2) ควรมีการกำหนดให้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อที่ได้รับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยดำเนินการปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้แก่สมาชิกในสัดส่วนเดียวกัน โดยควรคำนึงถึงสถานะทางการเงินของสหกรณ์ประกอบด้วย ทั้งนี้ พอช. อาจมีมาตรการช่วยเหลือสมาชิกเพิ่มเติม เช่น การปรับโครงสร้างนี้ การขยายระยะเวลาการชำระคืน ในการลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อของ พอช. ควรกำหนดวัตถุประสงค์ วิธีการและระยะเวลาในการดำเนินการ โดยจัดทำเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อและหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง สามารถดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน
และ (3) การบริหารส่วนต่างดอกเบี้ย การนำส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไปใช้ถือว่าสอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่ พอช. ให้สหกรณ์สามารถบวกส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจากสมาชิก ซึ่งเมื่อเทียบอัตราดอกเบี้ยเมื่อถึงมือสมาชิกยังถือว่าใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงิน ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่สามารถเข้าถึงได้ สามารถทำให้เกิดการเกื้อกูลกันกรณีที่สมาชิกบางรายไม่สามารถชำระได้ทุกเดือน แต่ถ้าสมาชิกขาดชำระหลายรายเกินไป ส่วนต่างตรงนี้ไม่สามารถครอบคลุมได้ หลายสหกรณ์มีการปรับโครงสร้างหนี้ภายในเพื่อลดเงินงวดที่สมาชิกต้องชำระคืนให้ชำระตามที่สามารถจ่ายได้ และปรับโครงสร้างหนี้ลดงวดเงินที่ชำระกับ พอช.
ด้าน ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบัน ระบุว่า สินเชื่อที่ พอช. สนับสนุนให้กับชุมชนผู้มีรายได้น้อยนำไปพัฒนาที่อยู่อาศัย สร้างความมั่นคงในชีวิตนั้น ถือว่าเป็นการคิดอัตราดอกเบี้ยที่ช่วยเครือข่ายองค์กรชุมชนให้เข้มแข็ง เงินที่ได้รับอนุมัติจาก พอช. ไป ร้อยละ 3.5 เปรียบเทียบกับสถาบันการเงินอื่นๆ หรือองค์กรอื่นนั้นต่ำที่สุดแล้ว ส่วนที่เหลือ 2% เป็นการให้คืนสมาชิกในรูปแบบต่างๆ ในการสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์ที่กู้ยืมจาก พอช. ไปอีกทีหนึ่ง นี่คือความแตกต่างที่ พอช. กับสถาบันการเงินอื่นดำเนินการ ถือว่าดี ทำให้สหกรณ์มีรายได้ เลี้ยงและบริหารองค์กรได้ในระดับหนึ่ง โดย พอช. อาจจะทำการศึกษาและทบทวนเป็นรายปี แล้วค่อยวิเคราะห์ร่วมกับงบประมาณที่จะได้รับสนับสนุนในอนาคตไปพร้อมกัน
“การที่มีภาระหนี้ โดยที่องค์กรผู้ใช้สินเชื่อไม่ได้ชำระให้กับสหกรณ์อย่างสม่ำเสมอ จะส่งผลกระทบต่อการบริหารสหกรณ์และลูกหนี้ หากองค์กรผู้ใช้สินเชื่อชำระหนี้สม่ำเสมอ ก็สามารถทำให้ พอช. สามารถนำมาสร้างแรงจูงใจ พอช. เองก็จะมีมาตรการในการลดอัตราดอกเบี้ยให้สมาชิกได้ เมื่อองค์กรผู้ใช้สินเชื่อมีวินัยในการชำระต่อเนื่องจะสามารถช่วยให้ NPL นั้นลดลง”
อย่างไรก็ตามในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อ ร้อยละ 0.50 ต่อปี เป็นระยะเวลา 1 ปี นั้น โดยมองว่าเป็นการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระในระยะสั้น ดำเนินการนำร่องเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่สมาชิกขององค์กรผู้ใช้สินเชื่อ และสร้างแรงจูงใจให้ผู้ใช้สินเชื่อและสมาชิก มีวินัยในการชำระคืนสินเชื่อและไม่เป็นหนี้ผิดนัด