กาฬสินธุ์/ วันที่ 24 พฤษภาคม 2567 ณ โรงแรมริมปาว ตำบลกาฬสินธุ์ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดงานวันป่าชุมชนแห่งชาติ 2567 รวมพลังเครือข่ายขับเคลื่อนป่าชุมชนเพื่อชีวิต โดยรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี พร้อมคณะผู้บริหาร ทส. ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ หน่วยงานภาคี และเครือข่ายป่าชุมชนภาคอีสาน 20 จังหวัด เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน เข้าร่วมงาน
ด้วยกรมป่าไม้ได้กำหนดจัดงานวันป่าชุมชนแห่งชาติโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงออกซึ่งความสำนึกในพระมหาพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ในการส่งเสริมพัฒนาป่าไม้ และเพื่อประชาสัมพันธ์การรับรู้เกี่ยวกับ พ.ร.บ.ป่าชุมชนพุทธศักราช 2562 โดยภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการ “วันป่าชุมชนแห่งชาติ” การมอบโล่เกียรติคุณ การมอบถ้วยรางวัลและโล่ประกาศเกียรติคุณให้แก่เครือข่ายป่าชุมชนต้นแบบ ประจำปี 2567 การมอบอุปกรณ์ดับไฟป่าให้แก่ 11 ป่าชุมชน การมอบเช็คเงินอุดหนุนให้แก่ 200 ป่าชุมชน การมอบรางวัลประกาศเกียรติคุณให้แก่ภาคีภาคเอกชนที่สนับสนุนการพัฒนาป่าชุมชน และการเดินรณรงค์สร้างการรับรู้วันป่าชุมชน
พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า วันที่ 24 พฤษภาคม 2562 เป็นวันป่าชุมชน เพื่อให้ปวงชนชาวไทยได้สืบสานรักษาต่อยอดตามแนวทางพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีพระราชดำริให้คนอยู่ร่วมกับป่า ซึ่งวันนี้พี่น้องชาวป่าชุมชนได้แสดงให้เห็นแล้วว่าชุมชนสามารถเข้ามาเป็นป่าไม้หมู่บ้านได้ตามแนวทางพระราชดำริของพระองค์ท่าน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนและทุกภาคส่วนสนับสนุนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาคประชาชนในการบริหารจัดการป่าร่วมกับภาครัฐ เช่น เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้านโดยให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง สร้างการเรียนรู้ทำความเข้าใจและเสริมความเข้มแข็งในระดับพื้นที่ รวมถึงช่วยกันบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามหลักธรรมาภิบาล
“เครือข่ายต่างๆ และหน่วยงานภาครัฐภาคเอกชนและองค์กรชุมชนทุกภาคส่วนที่ร่วมกันสนับสนุนการพัฒนาป่าชุมชน จะเป็นประโยชน์ในการสนับสนุนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามที่ประเทศไทยได้แสดงเจตจำนงเป้าหมายในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปีพ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปีพ.ศ. 2608 ต่อไป”
ด้าน ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานมูลนิธิป่าชุมชน ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และอุปนายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษ “สานพลังภาคประชาชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก” ระบุว่า วันนี้เป็นวันของพี่น้องป่าชุมชนที่มารวมตัวรวมพลัง ทั้งประเทศไทยมีป่าชุมชน 10,000 กว่าแห่ง พื้นที่รวม 6 ล้านกว่าไร่ ประเทศไทยมีการพัฒนาที่เรียกว่า ยิ่งพัฒนายิ่งอ่อนแอ ยิ่งพัฒนายิ่งหลงทาง ยิ่งทำไปยิ่งหมด ยิ่งทำชนบทยิ่งอ่อนแอ ยิ่งทำยิ่งเป็นหนี้ ยิ่งทำที่ดินก็เริ่มหมดไปอยู่กับมือของนายทุน
“ตึกรามบ้านช่อง รถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่รถไฟใต้ดิน ตึกสูงเต็มไปหมด แต่ว่าพี่น้องอ่อนแอทรัพยากรธรรมชาติอ่อนแอ ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมาคิดถึงการพัฒนาแบบใหม่ หัวใจที่สำคัญก็คือชุมชนคือคำตอบ ราชการคิดว่าเขาคือคำตอบ แต่ความจริงไม่ใช่ เราคือคำตอบ”
ดร.กอบศักดิ์ กล่าวต่อว่า เมื่อเทียบระหว่างป่าชุมชน กับป่าที่เป็นของภาครัฐจะพบว่าป่าชุมชนจะเขียวอยู่ เพราะว่าสุดท้ายแล้วกรมป่าไม้เองก็มีเจ้าหน้าที่จำกัดในการไปดูแล แต่ว่าเราคือคนที่อยู่ใกล้ชิดกับป่าเป็นคนที่ดูแลไม่ให้ใครมาลักตัด เราไม่ใครมาบุกรุกทำลาย แล้วก็ดูแลให้ป่าเเขียวขจีอยู่เสมอ วันนี้ผมดีใจด้วยครับ ป่าชุมชน 10,000 กว่าแห่ง 6 ล้านกว่าไร่ เป็นภาพสำเร็จอย่างยิ่ง
“รัฐบาลเองก็มีภาระอย่างยิ่งในหลายหลายเรื่องกว่าจะดูแลทุกที่ทุกป่าให้เรียบร้อย จะสำเร็จได้ที่สำคัญชุมชนคือคำตอบ ชุมชนต้องช่วย แล้วเราก็ต้องพยามหาทางที่จะปลดปล่อยพลังของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นด้านสวัสดิการ ที่ชุมชนทั่วไทยสามารถเก็บออมวันละบาท ไม่กี่ปีสามารถมีเงิน 10,000,000 บาท ได้ เราสามารถทำได้โดยที่ไม่ต้องรอใคร ก็ทำป่าชุมชนนี่แหละเราสามารถดูแลป่าได้โดยไม่ต้องรอให้ราชการมาดูแลแทนเรา”
นอกจากออมเงินแล้ว ยังมีการเก็บออมมีต้นไม้ พอโตพอสามารถที่จะตัดได้ ต้นหนึ่งก็มีมูลค่า 20,000-30,000 บาท จะสามารถใช้เป็นบำนาญให้กับตนเองได้ จากนั้นทำเรื่องของบ้านมั่นคงชุมชน ทำท่องเที่ยวชุมชน วิสาหกิจชุมชน แหล่งน้ำชุมชน เราสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราได้โดยที่เอาพลังข้างในออกมา สร้างแรงบันดาลใจป่าชุมชนทั่วไทย เป็นต้นแบบให้ชุมชนรอบข้าง สิ่งที่เราต้องทำคือการสานพลังทุกภาคส่วน สร้างพันธมิตรเพิ่มขึ้นทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน สร้างโอกาสในการสานพลังให้เป็นศูนย์กลางคาร์บอนเครดิตให้กับโลก โดยป่าชุมชน เพราะในอนาคตป่าจะมีมูลค่าเป็นทองคำ ดร.กอบศักดิ์ กล่าวในตอนท้าย