สธ. – 16 มหาวิทยาลัย ร่วมมือผลิตแพทย์เข้าสู่ระบบสุขภาพของประเทศ ช่วยแก้ปัญหาขาดแคลน และกระจายตัวไม่เหมาะสม

กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยคู่ความร่วมมือ 16 แห่ง ผลิตแพทย์ในโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท ช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนแพทย์และกระจายแพทย์ให้เหมาะสม โดยมีโรงพยาบาลในสังกัด 39 แห่ง เป็นศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก รองรับการฝึกทักษะวิชาชีพช่วงปีที่ 4 – 6 พร้อมดูแลให้คงอยู่ในระบบ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของระบบสุขภาพของประเทศในอนาคต

วันที่ 24 พฤษภาคม 2567 ที่ ห้องประชุมเมตตาประชารักษ์ ชั้น 9 กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังลงนามบันทึกข้อตกลง ความร่วมมือการผลิตแพทย์ของโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กับมหาวิทยาลัยคู่ความร่วมมือ ว่า กระทรวงสาธารณสุข มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาการขาดแคลนและการกระจายแพทย์ ที่ไม่เท่าเทียมกันของประเทศ โดยสำนักงานบริหารโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (สบพช.) ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ผลิตแพทย์ที่มีคุณภาพ เข้าสู่ระบบและกระจายไปยังโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยคู่ความร่วมมือ 16 แห่ง และมีโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก รองรับการฝึกนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4-6 จำนวน 39 แห่ง ผลิตแพทย์เข้าสู่ระบบแล้ว 13,780 คน ซึ่งแพทย์กลุ่มนี้ยังคงอยู่ในระบบร้อยละ 77

นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อว่า สำหรับการบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ เป็นการจัดทำข้อกำหนดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันและสามารถดำเนินการผลิตแพทย์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยทุกแห่ง จะเป็นผู้จัดการศึกษาตามหลักสูตรที่มีคุณภาพและมาตรฐานของแพทยสภา ส่วนกระทรวงสาธารณสุข โดยศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกคู่ความร่วมมือของโรงพยาบาลในสังกัด จะรับผิดชอบจัดการศึกษา ในชั้นปีที่ 4-6 ตามหลักสูตร โดยจะเริ่มดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2567 เป็นต้นไป ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขและมหาวิทยาลัยคู่ความร่วมมือทั้ง 16 แห่ง มีความมุ่งมั่นที่จะร่วมกันผลิตแพทย์ที่ดีมีคุณภาพและดูแลให้คงอยู่ในระบบให้มากที่สุด เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของระบบสุขภาพของประเทศในอนาคต

“การลงนามฯ วันนี้ เป็นการตกลงความร่วมมือกันในการผลิตบุคลากรทางการแพทย์และการดำเนินงานอื่นๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบสาธารณสุขของไทย ซึ่งคาดการณ์ว่าในช่วง 6-10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะผลิตแพทย์ได้เพิ่มขึ้นเป็นปีละประมาณ 5,000 คน ซึ่งจะทำให้จำนวนแพทย์ต่อประชากรเพียงพอที่จะรองรับระบบสาธารณสุขของประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งตอบสนองเรื่องศูนย์กลางทางการแพทย์ ตามนโยบายของรัฐบาล” นายแพทย์โอภาสกล่าว