วิศวฯ ม.อ. ทดลอง ทดสอบ รับส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม STARLINK ที่แรกของไทย หนุนภารกิจทางไกล

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดย คณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับ บริษัท Space Exploration Technologies Corp. (SpaceX) ประเทศสหรัฐอเมริกา จัดโครงการ: ทดลอง ทดสอบ รับส่งสัญญาณผ่านกลุ่มดาวเทียม STARLINK เพื่อ 3 ภารกิจสำคัญ ได้แก่ การค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย การศึกษา และการแพทย์สำหรับผู้ด้อยโอกาส โดยมี ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ผศ. ดร.นิคม สุวรรณวร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวต้อนรับ ศ. ดร.มิตรชัย จงเชี่ยวชำนาญ กล่าวรายงานและชี้แจงวัตถุประสงค์ของการจัดงาน พร้อมด้วย ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กสทช. คณะทำงาน คณะผู้บริหาร บุคลากร นักศึกษา และสื่อมวลชน เข้าร่วมงาน ณ ลานกิจกรรม Co – Working Space และ ห้องประชุมดงยาง 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 67

ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี กล่าวว่า ทางกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้อนุมัติให้ ม.อ. เป็นหน่วยงานแรกในประเทศไทยที่จะได้ใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจากดาวเทียมวงโคจรต่ำ STARLINK เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สาย ซึ่งอยู่ภายใต้บริษัทเทคโนโลยีอวกาศ SpaceX ของมหาเศรษฐี “อีลอน มัสก์” เจ้าของ Tesla และทวิตเตอร์ หรือ X ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นความภูมิใจของ ม.อ. สำหรับภารกิจที่จะเกิดขึ้น

ด้าน ศ. ดร.มิตรชัย จงเชี่ยวชำนาญ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า โครงการนี้ดำเนินการภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ และบริษัท Space Exploration Technologies Corp เพื่อรายงานผลการทดลองทดสอบภายใต้การรับอนุญาตใช้ดาวเทียมต่างชาติ จากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จะใช้คลื่นความถี่ในการทดลอง ทดสอบ การรับส่งสัญญาณผ่านกลุ่มดาวเทียม STARLINK เพื่อสนับสนุนภารกิจค้นหาและช่วยเหลือ การศึกษา และการแพทย์สำหรับผู้ด้อยโอกาส ตั้งแต่ 1 เมษายน 2567 ถึงวันที่ 27 กันยายน 2567 รวมเป็นระยะเวลา 180 วัน โดยมีคณะกรรมการ กสทช และทีมผู้บริหารจาก Starlink มาติดตามการอนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติของกลุ่มดาวเทียม STARLINK และลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานีเทอร์มินัลดาวเทียม (Satellite Terminal) และทดสอบคุณภาพการสื่อสารในกรณีภารกิจการแพทย์ทางไกล (เส้นทางท่าเรือสงขลา – แหล่งบงกช) อีกด้วย

ขณะที่ ผศ. ดร.นิคม สุวรรณวร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวสนับสนุนการทดสอบโครงการ ว่า นอกเหนือจากนี้ ทางทีมอาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษาจะมีการเตรียมพร้อมและดำเนินการทดสอบคุณภาพการสื่อสารทางไกล โดยจะทดสอบด้วยการสร้างห้องเรียนทางไกลด้วยโปรแกรม Microsoft Team และติดตั้งอุปกรณ์ลำโพงและกล้อง โดยติดตั้ง ST UTA-212 ที่สถานีรับส่งสัญญาณ ST4 ณ พื้นที่พักพิงชั่วคราว บ้านแม่สุริน หมู่ที่ 5 ตไบลขุนยวม อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งจะมีการถ่ายทอดสด (Live stream) จากห้องเรียน โดยสัญญาณวิดีทัศน์ทั้งภาพและเสียงที่ต่อเข้าอุปกรณ์ ST อีกด้วย