วันที่ 22 พฤษภาคม 2567 เวลา 13:00 น. ณ พระอุโบสถ วัดนิเวศธรรมประวัติ ราชวรวิหาร อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระราชวชิรสารสุธี (เอนก มนุญฺโญ) เจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ธรรมยุติกนิกาย) เจ้าอาวาสวัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้มอบหมายให้ นายธีรศักดิ์ โฉมศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในพิธีอัญเชิญผ้าไตรพระราชทานบรรพชาสามเณร เพื่อการศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพิธีในครั้งนี้ มีนักเรียนที่จะบรรพชาเป็นสามเณร จำนวนทั้งหมด 73 คนโดยมี นายดุสิต ศิริวราศัย นายอำเภอบางปะอิน คณะหัวหน้าส่วนราชการ ตลอดจนประชาชนชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดใกล้เคียง เข้าร่วมพิธีในครั้งนี้
โรงเรียนพระปริยัติธรรม วัดนิเวศธรรมประวัติเรียกได้ว่าเป็นสำนักเรียนที่เก่าแก่ที่สุดอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทยที่ได้จัดการเรียนการสอนแก่นักเรียนในระดับท้องถิ่นของอำเภอบางปะอินเมื่อประมาณร้อยกว่าปีก่อนใน ปีพ.ศ.2426 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงผนวชที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามในพระบรมมหาราชวัง เพื่อตอบสนองพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่จะให้มีเจ้านายมาประทับที่วัดนี้บ้างพระอาจารย์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพคือพระอมราภิรักขิตเจ้าอาวาสองค์แรก ที่วัดนิเวศฯแห่งนี้ ในสมัยที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงประทับอยู่ที่วัด พระองค์ได้ทรงเปิดโรงเรียนสอนหนังสือเด็กขึ้นที่วัด ซึ่งเป็นผลให้ทรงพระราชนิพนธ์ตำรา“แบบเรียนเร็วเล่ม1” เพื่อใช้สอนนักเรียนที่โรงเรียนของวัดเป็นครั้งแรก โรงเรียนพระปริยัติธรรม วัดนิเวศธรรมประวัติแห่งนี้ได้เปิดทำการเรียนการสอนใน 3 สายการศึกษาได้แก่ หลักสูตรโรงเรียนพระปริยัติแผนกสามัญศึกษาโดยทั่วไปคือสายบาลีสายนักธรรมและสายสามัญ นักเรียนที่เรียนอยู่ในวัดล้วนเป็นพระภิกษุและสามเณร ทั้งสิ้นและต้องเรียนทั้ง๓สายการศึกษา เพื่อที่นักเรียนจะได้มีความรู้ทั้งทางโลก และทางธรรมควบคู่กันไป อีกทั้งยังสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายหลักของการจัดการศึกษาที่ต้องการสร้างโอกาสทางการศึกษาแก่เด็กไทยในอีกลักษณะหนึ่งด้วย
การเล่าเรียนศึกษาพระปริยัติธรรมนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่รัฐให้ความสำคัญมาตลอด ดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตรัสไว้ใน อธิบายเรื่องการสอบพระปริยัติธรรม ว่า “การสอบพระปริยัติธรรมของพระภิกษุสามเณร นับเป็นราชการแผ่นดินอย่างหนึ่ง ด้วยอยู่ในพระราชกิจของพระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นพุทธศาสนูปถัมภก”ในปัจจุบันมีการจัดการศึกษาบาลีอย่างเป็นระบบ โดยสำนักงานแม่กองบาลีสนามหลวงรับผิดชอบดูแลโดยภายใต้การกำกับของมหาเถรสมาคม ในความอุปถัมภ์ของรัฐบาลไทย