ดันสมุนไพรเชิงเศรษฐกิจ 1 ใน 5 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ตอบโจทย์การเป็นทรัพยากรเชิงพันธุกรรมและสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ความคิดสร้างสรรค์สร้างมูลค่า สร้างความมั่งคั่งที่กระจาย และสร้างสังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างคุณค่า Green Growth Engine ในตัวเอง ตามแผนแม่บทแห่งชาติด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ให้มีบทบาทสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางสุขภาพและความยั่งยืนของเศรษฐกิจ
แผนแม่บทแห่งชาติ ว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพร ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560-2564 ภายใต้วิสัยทัศน์ “ สมุนไพรไทยเพื่อความมั่นคงทางสุขภาพและความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย” สู่การขับเคลื่อนอย่างเป็นเอกภาพ อันจะส่งผลให้ประเทศมีความมั่นคงทางสุขภาพทั้งมิติการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสภาพร่างกาย เกิดความยั่งยืนของเศรษฐกิจในระดับชุมชน ระดับอุตสาหกรรม และระดับประเทศ
ภายใต้ยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งของการบริหารและนโยบายของภาครัฐเพื่อการขับเคลื่อนสมุนไพรอย่างยั่งยืน ได้กำหนดมาตรการส่งเสริมและพัฒนาสมุนไพร Champion Products ที่มีศักยภาพของประเทศ เพื่อให้เกิดทิศทางที่ชัดเจนในการวางแผนพัฒนาสมุนไพรให้ครบวงจรเป็นรายชนิด พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด และสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศได้
ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สมุนไพรเป็น 1 ใน 5 อุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นทรัพยากรเชิงพันธุกรรมและสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่จะนำมาใช้ประโยชน์ โดยนำมาบวกกับเรื่องความคิดสร้างสรรค์เพื่อการสร้างมูลค่า สร้างความมั่งคั่งที่กระจาย และสร้างสังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน ตอบโจทย์ความเหลื่อมล้ำ และGreen Growth Engine ในตัวเอง ตามแผนแม่บทแห่งชาติ ว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ถือเป็นการกำหนดนโยบายชัดเจนในการส่งเสริมให้สมุนไพรไทยมีบทบาทสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางสุขภาพและความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย เพื่อให้ส่วนราชการและองค์กรเอกชนร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาสมุนไพรตลอดห่วงโซ่คุณค่าสมุนไพร อันจะนำมาซึ่งความมั่นคงทางสุขภาพและความยั่งยืนของเศรษฐกิจ
ด้าน นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้จัดการประชุมวิชาการสมุนไพรแห่งชาติ หัวข้อ “ Champion Products” ประเด็น “ศักยภาพสมุนไพร…สร้างเศรษฐกิจไทยยั่งยืน” Samunprai Thai for Sustainable Economy เวทีให้ผู้เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสมุนไพร ได้นำเสนอผลงานวิชาการ วิจัย นวัตกรรม เกิดความเชื่อมโยงระหว่างนักวิจัยกับผู้ประกอบการ อันจะส่งผลให้เกิดทิศทางที่ชัดเจนในการวางแผนพัฒนาสมุนไพรให้ครบวงจรและยั่งยืน พัฒนาผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดและสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศ นอกจากนั้นนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาสมุนไพร ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสมุนไพร และหน่วยงานภาครัฐร่วมกันกำหนดสมุนไพร Champion Products ใน 3 มิติ คือ มิติด้านศักยภาพ มิติด้านความต้องการ และมิติด้านความน่าสนใจในอนาคต ซึ่งในปี 2560 กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนโครงการตามแผนงานบูรณาการขับเคลื่อนสมุนไพรเชิงเศรษฐกิจ 4 ชนิด ได้แก่ กระชายดำ ขมิ้นชัน บัวบก และไพล
นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับจัดการประชุมวิชาการสมุนไพรแห่งชาติ ว่า การประชุมครั้งนี้มี การบรรยายพิเศษเรื่องการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ การป้องกันภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ งานวิจัยพัฒนาเครื่องสำอางและยาสมุนไพรตำรับมะเร็ง ผลิตภัณฑ์สมุนไพรใหม่ๆ มาตรฐานสารสกัดขมิ้นชัน กับฟ้าทะลายโจร และเปิดตัวโครงการวิจัยคลินิกศึกษาประสิทธิผลสารสกัดฟ้าทะลายโจรเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย นอกจากนี้ ได้นำสายพันธุ์และพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกสมุนไพรกระชายดำ ไพล ขมิ้นชัน บัวบก การให้คำปรึกษาการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สมุนไพร ช่องทางการเข้าถึงฐานข้อมูลการวิจัยสมุนไพร Application สมุนไพร อีกด้วย