อย. ส่งเสริมเศรษฐกิจไทย ผู้บริโภคปลอดภัยจากผลิตภัณฑ์สุขภาพนำเข้า

อย. มุ่งส่งเสริมเศรษฐกิจ ปกป้องคนไทยจากอันตรายสินค้านำเข้า ให้ด่านอาหารและยา อำนวยความสะดวก เน้นความรวดเร็ว นำเทคโนโลยีช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแบบมืออาชีพ แต่ยังคงดูแลความปลอดภัยของผู้บริโภค

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา พร้อมคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เดินทางลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้คำแนะนำและให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ด่านอาหารและยาหนองคาย ตั้งอยู่ที่ อาคารศุลกากรหลังเก่า ตำบลหนองกอมเกาะ อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย ในปี 2566 มีผลิตภัณฑ์สุขภาพนำเข้าจำนวน 1,335 รายการ คิดเป็นมูลค่านำเข้า 479,807,545 บาท โดยผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ ได้แก่ น้ำอัดลม ผักสด มันเส้น ลูกชิด และเครื่องมือแพทย์ ทั้งนี้ ด่านอาหารและยาหนองคาย มีการตรวจสอบการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพผ่านระบบ National Single Window: NSW โดยเชื่อมโยงข้อมูลการนำเข้ากับกรมศุลกากร นอกจากนี้ ยังมีการตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์สุขภาพด้วยชุดทดสอบเบื้องต้น และเก็บตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์ ณ ห้องปฏิบัติการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์นครราชสีมา หากผลวิเคราะห์ไม่ได้มาตรฐานจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และกรณีอาหารที่มีผลตรวจวิเคราะห์ไม่ได้มาตรฐานจะถูกนำเข้าระบบกักกันของด่านอาหารและยา เพื่อเฝ้าระวังสินค้าที่นำเข้าครั้งต่อไปอย่างเข้มงวด

เลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า ด่านอาหารและยาหนองคาย ได้จัดตั้งศูนย์บริการค้าชายแดนเบ็ดเสร็จจุดเดียว เพื่อบูรณาการการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า-ส่งออกสินค้า ร่วมกันทั้ง 8 หน่วยงาน อำนวยความสะดวกการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยการลดเอกสารที่ต้องนำมาแสดงและมีการพิจารณาอนุญาตภายใน 24 ชม. ผ่านระบบ e-Submission ยกเลิกการเรียกเอกสารหนังสือรับรองนิติบุคคลโดยการเชื่อมข้อมูลกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีระบบการผูกรับรองมาตรฐานการผลิตอาหาร ทำให้ผู้นำเข้าไม่ต้องนำเอกสารไปแสดง ณ ด่านอาหารและยาขณะนำเข้า และแผนรองรับในอนาคต ONE DAAN ONE LAB ONE DAY ตามมาตรการ Hold Test Release กักสินค้าเพื่อทำการทดสอบอย่างรวดเร็วภายใน 1 วัน หากผลผ่านจึงตรวจปล่อย เพื่อป้องกันสินค้าไม่ปลอดภัยเข้ามาในราชอาณาจักร

ทั้งนี้ อย. พร้อมอำนวยความสะดวกกับผู้ประกอบการ เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจไทยให้เติบโต และมุ่งมั่นในการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพ หากพบการกระทำฝ่าฝืนกฎหมาย มีการดำเนินคดีตามกฎหมายโดยเคร่งครัด