วันที่ 21 พฤษภาคม 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ตนมีนโยบายยกระดับขยายการให้บริการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั่วประเทศ โดยการบูรณาการหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกกระทรวง อว. จึงมอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีห้องปฏิบัติการอ้างอิง วิเคราะห์ทดสอบคุณภาพอาหารสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สุขภาพ สร้างความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับทุกหน่วยงานในกระทรวง อว. ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคครอบคลุมพื้นที่บริการทั่วประเทศ เช่น สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รวมถึงหน่วยงานในภูมิภาค เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ในการตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และให้บริการให้คำปรึกษา และขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มช่องทางให้ผู้ประกอบการได้รับความสะดวก รวดเร็ว
นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) เปิดเผยว่า. วศ.อว. ได้ประชุมร่วมและตกลงในความร่วมมือกับนายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และคณะผู้บริหาร อย.ในความร่วมมือดำเนินการพัฒนาระบบการเชื่อมโยงให้บริการให้คำปรึกษาและขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สุขภาพ การวิเคราะห์ทดสอบคุณภาพสินค้า การพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์และมาตรฐานวิธีวิเคราะห์ทดสอบเพื่อใช้อ้างอิงในการขอขึ้นทะเบียน อย. หรือบัญชีนวัตกรรมไทย รวมถึงการส่งเสริมและรับรองห้องปฏิบัติการเครือข่ายในการขึ้นบัญชีห้องปฏิบัติการมาตรฐานและองค์กรผู้เชี่ยวชาญ
โดยกรมวิทยาศาสตร์บริการ และหน่วยงานในกระทรวง อว. เป็นหน่วยพัฒนาวิธีวิเคราะห์ทดสอบอาหารและสมุนไพร รวมถึงผลิตภัณฑ์สุขภาพตามวิธีมาตรฐานภายในประเทศและมาตรฐานสากล วิจัยพัฒนาวิธีวิเคราะห์ทดสอบใหม่ๆ ที่ในประเทศยังไม่มีการให้บริการ ช่วยให้ผู้ประกอบไม่ต้องส่งตัวอย่างไปวิเคราะห์ทดสอบยังต่างประเทศ เป็นหน่วยงานพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์และมาตรฐานวิธีการวิเคราะห์ทดสอบอาหารและสมุนไพร รวมถึงเป็นหน่วยส่งเสริมและรับรองห้องปฏิบัติการตามมาตรฐานสากล และ ขณะนี้ กรมวิทยาศาสตร์บริการ ได้ร่วมมือกับ สวทช. วว. และหน่วยงานในภูมิภาคกระทรวง อว. ทำหน้าที่ห้องปฏิบัติการอ้างอิงและเครือข่ายร่วมที่ได้มาตรฐานในการตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ขณะนี้ กรมวิทยาศาสตร์บริการได้เปิด “ศูนย์ให้คำปรึกษาและบริการร่วม อย. & อว. ด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และจะพัฒนาให้เชื่อมโยงทุกหน่วยงานในกระทรวง อว. เพื่อเชื่อมโยงเพื่อให้คำปรึกษาและขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สุขภาพให้ประชาชน ผู้ใช้บริการได้รับความสะดวกรวดเร็ว เสมือนไปรับบริการที่ อย. แต่สามารถรับบริการที่กระทรวง อว. และสามารถทำในขั้นตอนตั้งแต่มาส่งผลิตภัณฑ์เพื่อตรวจวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการของหน่วยงานในกระทรวง อว. ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการ อย. กล่าวว่า อย. เน้นบทบาทการให้คำปรึกษาที่เป็น Proactive CoCreator สนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตลอดห่วงโซ่คุณค่า ให้กับนักวิจัย ผู้ประกอบการและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีความยินดีอย่างยิ่งที่จะพัฒนาความร่วมมือระหว่าง วศ. ในนามกระทรวง อว. และ อย. อย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ในระยะแรก ได้เชื่อมโยงการบริการ โดยเฉพาะ “ระบบบริการให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สุขภาพ ให้สามารถเข้าถึงได้จากสองหน่วยงาน รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งในพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพของประเทศ (National Quality Infrastructure, NQI) ด้านมาตรฐานวิธีการวิเคราะห์ทดสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพของห้องปฏิบัติการ เพื่อใช้อ้างอิงในการขออนุญาต อย. และการขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมต่อไปในอนาคต
นายแพทย์รุ่งเรือง กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมวิทยาศาสตร์บริการได้ดำเนินการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ภายในกระทรวง อว. ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ เนื่องจากอาหารและสมุนไพร รวมถึงผลิตภัณฑ์สุขภาพเป็นหนึ่งในสาขาเศรษฐกิจสำคัญหลักของประเทศ และสอดรับกับวาระแห่งชาติ BCG ที่จะสร้างเสริมความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน
#กรมวิทยาศาสตร์บริการ #วศ #กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม #DSS #MHESI