สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดสอนการทำว่าวไทย ในรูปแบบ “โครงการบริการชุมชนและจิตอาสาฝึกอบรมวิชาชีพว่าวไทย” โดยเปิดสอนเป็นเวลา 3 วัน ระหว่างวันที่ 21-23 สิงหาคม 2562 ณ วิทยาลัยสารพัดช่างสี่พระยา ซึ่งได้ครูทำว่าวมือฉมัง ที่รู้จักกันในนาม “ซุปเปอร์เป็ด” หรือนายปริญญา สุขชิต อดีตนักเชียร์ชื่อดังของประเทศไทย และเป็นผู้สืบสานตำนานว่าวไทยมือฉมัง
ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า สอศ.ได้น้อมนำพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับการสืบสาน รักษา ต่อยอด สิ่งดีๆ ที่มีอยู่ให้เกิดความยั่งยืนสืบไป จึงได้ประชุมหารือกับสถานศึกษาประเภทวิทยาลัยสารพัดช่างทั่วประเทศ ให้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบการฝึกอบรมวิชาชีพระยะสั้น เพื่อให้ประชาชนที่เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้เกี่ยวกับความเป็นไทยในอดีต เช่น อาชีพ การละเล่น และกิจกรรมกีฬา อีกทั้งสามารถนำความรู้ที่ได้จากการอบรมไปประกอบอาชีพ หรือทำเป็นอาชีพเสริมได้ โดยวิทยาลัยสารพัดช่างสี่พระยา ได้จัดฝึกอบรมวิชาชีพว่าวไทยขึ้น ใช้เวลา 3 วัน เปิดรับสมัครให้นักเรียน นักศึกษา ครู และประชาชนทั่วไปที่สนใจได้เข้ามาอบรม เพื่อมุ่งหวังให้ผู้เข้ารับการอบรมเกิดความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับความเป็นของการละเล่น และชนิดของว่าวไทย รวมทั้งการพัฒนาอาชีพให้แก่ตนเองตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยได้รับความอนุเคราะห์จาก นายปริญญา สุขชิต หรือ “ซุปเปอร์เป็ด” อดีตนักเชียร์ชื่อดังของประเทศไทย และเป็นผู้สืบสานตำนาน ว่าวไทยมือฉมัง พร้อมทั้งนายพนัส เทียนศิริ หรือ “เม่น มหาชัย” ครูภูมิปัญญาด้านอนุรักษ์และสืบสานการละเล่นว่าวไทย เป็นผู้ให้การอบรมและสอนวิธีการทำว่าว ซึ่งวิทยาลัยสารพัดช่างสี่พระยา โดยนางยุพิน พิมศร ผู้อำนวยการวิทยาลัย ได้เปิดพื้นที่รับผู้เข้ารับการอบรมกว่า 50 คน ฝึกทำว่าวประเภทต่างๆ เริ่มจากการทำโครงว่าวด้วยไม่ไผ่ จนถึงขึ้นเป็นตัวว่าวพร้อมที่จะนำไปเล่น
ด้าน นายปริญญา สุขชิต หรือ “ซุปเปอร์เป็ด” ได้กล่าวเสริมว่า นับวันการละเล่นว่าวไทยดูเหมือนจะเลือนหายไปจากความทรงจำของคนไทยแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง เพราะเป็นภูมิปัญญาและการละเล่นที่มีมาแต่สมัยโบราณ เมื่อเห็นว่าสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มีนโยบายที่จะสืบสานเรื่องว่าวไทย จึงได้อาสามารื้อฟื้นและให้ความรู้พร้อมทั้งชวนเพื่อนคือ “ครูเม่น มหาชัย” มาช่วยสอนด้วย พร้อมทั้งได้นำอุปกรณ์การทำว่าวต่างๆ ให้ผู้เข้ารับการอบรมได้ทดลองทำจริง ซึ่งผู้เรียนที่เป็นเด็กนักเรียนก็ได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลินในขั้นตอนการทำว่าว ทั้งการวาดภาพตามจินตนาการลงบนว่าว การให้สี การทำว่าวงูหางยาว ว่าวนกฮูก ว่าวการ์ตูนญี่ปุ่น ผู้เรียนที่เป็นผู้ใหญ่ก็เน้นการทำว่าวประเภทสวยงาม นำไปใช้ตกแต่งบ้าน ร้านอาหาร บางคนก็จะนำไปชักจริงๆ เพื่อการแข่งขัน และความสนุกสนาน รู้สึกปลาบปลื้มที่หัตถกรรมว่าวไทยยังคงมีเสน่ห์ มีคนสืบสาน ซึ่งเป็นการสร้างจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒธรรมที่ควรจะอยู่คู่กับชาวไทยตลอดไป
เลขาธิการ กอศ. กล่าวปิดท้ายว่า การจัดอบรมวิชาชีพระยะสั้นของวิทยาลัยสารพัดช่างนั้น มีหลากหลายสาขา ซึ่งล้วนแล้วแต่สร้างงาน สร้างรายได้ที่ดีให้กับผู้เรียน นอกจากนี้วิทยาลัยสารพัดช่างยังเป็นแหล่งอนุรักษ์ความรู้ แหล่งบ่มเพาะ สืบสานอาชีพในตำนานต่างๆ ทั้งเรื่องอาหารคาว หวาน การทำช่อดอกไม้ ร้อยมาลัย ศิลปะการถักเชือก การวาดรูปลายไทย วาดรูปด้วยสีน้ำ การทำเครื่องหนังรูปแบบต่างๆ หากใครสนใจที่จะมีอาชีพใหม่ หรืออาชีพเสริม หรือแม้แต่ต้องการมีความรู้เพิ่มเติมได้เรียนรู้ในสิ่งที่ชอบ ที่ใจรัก ก็ให้มาสมัครเรียนได้ที่สถานศึกษาประเภทวิทยาลัยสารพัดช่างทั่วประเทศ
วันที่ 22 สิงหาคม 62