21 พฤษภาคม วันชาสากล คนไทยส่วนใหญ่ชอบการดื่มชา เพื่อดับกระหาย มีหลากหลายรสชาติจากพืชผัก ผลไม้ ดอกไม้ แนะผู้บริโภคอ่านข้อมูลบนฉลากให้ละเอียดก่อนเลือกซื้อ เลี่ยงการซื้อผลิตภัณฑ์ชาที่อ้างสรรพคุณรักษาโรค
เภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เผยว่า องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO กำหนดให้วันที่ 21 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันชาสากล (International Tea Day) ชาเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมตลอดกาลของคนทั่วโลก เป็นแหล่งรายได้ที่หล่อเลี้ยงครอบครัว ชุมชน และเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการค้าขายในระดับโลก สำหรับประเทศไทยชาเป็นเครื่องดื่มที่คนไทยนิยมรับประทาน ไม่ว่าจะเป็นการดื่มชาร้อนหรือเย็น อีกทั้งยังมีรสชาติที่หลากหลายให้เลือกดื่มด้วย ซึ่งได้จากพืชผัก ผลไม้ ดอกไม้หลากหลายชนิด ที่เรียกว่าชาจากพืช โดยนำส่วนต่าง ๆ ของพืชที่ผ่านกระบวนการทำให้แห้ง ผ่านการบดหยาบหรือลดขนาด พบการจำหน่ายในท้องตลาด 2 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบแรก คือ ผง ใบ ดอก ของชา เพื่อนำไปบริโภคโดยการต้มหรือชงกับน้ำ โดยไม่มีการปรุงแต่งกลิ่น รส หรือใช้วัตถุเจือปนอาหารใด ๆ เช่น ชามะตูม ชาตะไคร้ ชาเขียว เป็นต้น รูปแบบที่สอง คือ ชาปรุงสำเร็จเป็นเครื่องดื่มที่มีการปรุงแต่งกลิ่นรสหรือวัตถุเจือปนอาหารได้ โดยการใช้วัตถุเจือปนอาหารต้องเป็นไปตามชนิดและปริมาณที่กฎหมายกำหนด เช่น ชาไทยปรุงสำเร็จ ชาเขียวปรุงสำเร็จ เป็นต้น
รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวเพิ่มเติมว่า การรับประทานชา ทำให้รู้สึกสดชื่น ช่วยดับกระหายได้ อย. แนะก่อนเลือกซื้อชาชนิดต่าง ๆ มารับประทาน ต้องอ่านฉลากก่อนซื้อทุกครั้ง โดยฉลากที่แสดงบนบรรจุภัณฑ์ต้องมีข้อความภาษาไทย และมีรายละเอียดดังนี้ 1. ชื่ออาหาร 2.เลขสารบบอาหาร 3.ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้แบ่งบรรจุหรือชื่อและที่ตั้งผู้นำเข้าและประเทศผู้ผลิต 4. น้ำหนักหรือปริมาตรสุทธิ 5.ส่วนประกอบที่สำคัญเป็นร้อยละของน้ำหนัก แสดงส่วนของพืชที่ใช้เป็นวัตถุดิบ 5. วันเดือนปีที่ผลิต และวันเดือนปีที่หมดอายุหรือควรบริโภคก่อน และ 6. มีข้อความแสดงคำเตือนสำหรับผู้แพ้อาหาร นอกจากนี้บรรจุภัณฑ์ต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์ไม่มีรอยบุบหรือฉีกขาด มีการเก็บรักษาสภาวะที่เหมาะสม ที่สำคัญควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากแหล่งที่เชื่อถือได้ หลีกเลี่ยงการซื้อผลิตภัณฑ์ชาที่มีการโฆษณาอ้างสรรพคุณในการบำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันโรค เนื่องจากชาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารไม่มีผลในการรักษาหรือป้องกันโรค