18 พฤษภาคม 2567 / นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า จากการเผยแพร่ข่าวที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ มีหนังสือแจ้งหัวหน้าส่วนราชการในสังกัด/ในกำกับ กระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การยกเว้นหรือผ่อนผันการแต่งเครื่องแบบนักเรียน มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของนักเรียนและผู้ปกครอง ซึ่งมาจากการสำรวจความเดือดร้อนของผู้ปกครองนักเรียนก่อนหน้านี้ ดังนั้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ปกครองในการหาเงินมาซื้อเสื้อผ้าชุดเครื่องแบบของนักเรียน จึงแจ้งให้สถานศึกษาในสังกัด พิจารณายกเว้นหรือผ่อนผันการแต่งเครื่องแบบและรองเท้าของนักเรียน เป็นชุดหรือรองเท้าอื่น โดยคำนึงถึงความประหยัดและเหมาะสม
แต่ช่วงที่ผ่านมากลับมีเพจต่าง ๆ นำข้อมูลดังกล่าวไปสื่อสารคลาดเคลื่อน โดยไปใช้คำว่า “ยกเลิก” ซึ่งจากหนังสือของกระทรวงศึกษาธิการไม่มีคำนี้อยู่เลย ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในวงกว้าง ผู้คนที่ไม่ได้อ่านรายละเอียดเกิดความเข้าใจผิด คิดว่า ศธ.ยกเลิกชุดนักเรียนแล้ว ต่อไปนี้ทุกคนไม่ต้องใส่แล้ว ชุดที่ซื้อมาก็เสียเงินไปเปล่า ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่การยกเลิกชุดนักเรียนแต่อย่างใด
“ผมขอชี้แจงอย่างชัดเจนเลยว่า คำว่า ‘ยกเว้น/ผ่อนผัน’ กับคำว่า ‘ยกเลิก’ แตกต่างกันเป็นคนละความหมายอย่างสิ้นเชิง ยกตัวอย่างการยกเว้น/ ผ่อนผันการแต่งชุดนักเรียน หมายถึง ทางโรงพิจารณาแล้วว่าเด็กมีความจำเป็นเรื่องการหาชุดนักเรียนตามระเบียบมาใส่ โดยครอบครัวเด็กอาจมีปัญหาทางการเงิน มีลูก 5 คน ซื้อพร้อมกันไม่ไหว แบบนี้ทางโรงเรียนก็สามารถยกเว้นให้เด็กไม่ต้องแต่งชุดนักเรียน โดยใส่ชุดอื่นที่เหมาะสมเช่นชุดพละ หรือชุดที่มีอยู่ไปพลางก่อน เมื่อจัดหาชุดนักเรียนได้แล้วก็ใส่ชุดนักเรียนมาตามปกติ ส่วนการยกเลิกการแต่งชุดนักเรียนนั้น ความหมายมันกว้างถึงขั้นว่าเด็กทุกคนในประเทศไม่ต้องแต่งชุดนักเรียนแล้ว เครื่องแบบนักเรียนจะไม่มีอีกต่อไป ซึ่งมันไม่ใช่การประกาศจาก ศธ. เป็นการนำข้อมูลไปบิดเบือน สร้างความตกใจ และความสับสนเป็นอย่างยิ่ง” นายสิริพงศ์ กล่าว
ทั้งนี้ในการปฏิบัติงาน เมื่อเกิดกรณีนักเรียนมีความเดือดร้อนในการจัดหาชุดนักเรียนให้ทันเปิดเทอมแบบนี้ ผู้บริหารสถานศึกษาสามารถตัดสินใจได้เองอยู่แล้ว โดยให้ผู้ปกครองของนักเรียน มาทำข้อตกลง กับโรงเรียน ในการยกเว้นหรือผ่อนผันการแต่งชุดนักเรียน จนกว่าจะมีความพร้อม แต่ทางส่วนกลางก็ออกหนังสือเพื่อเป็นลายลักษณ์อักษรสร้างความมั่นใจให้ผู้บริหารสถานศึกษาดำเนินการได้ในแนวทางเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ขอย้ำอีกครั้งว่าเป็นการยกเว้นหรือผ่อนผัน พิจารณาเป็นรายไปตามความเหมาะสม พร้อมรายงานให้ รมว.ศธ. ทราบด้วย ศธ. มุ่งมั่นในการ สร้างการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” ซึ่งความสุขส่วนหนึ่งจะเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยการเข้าอกเข้าใจและช่วยเหลือผู้ปกครองนักเรียน ไม่ใช่การสั่งยกเลิกการแต่งชุดนักเรียนแต่อย่างใด