วันที่ 17 พฤษภาคม 2567 ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้มอบหมายให้กองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ร่วมกับ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากโรงแรมเกาะไม้ท่อน ได้มีดำเนินการติดตั้งสแลนเพื่อลดแสง (Shading) ในพื้นที่บริเวณแนวปะการังด้านทิศตะวันออกของเกาะไม้ท่อน อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ซึ่งกรมฯ ได้ทำการทดลองกับปะการังจำนวน 3 แปลง ที่มีลักษณะสีซีด ฟอกขาว และลักษณะปกติ เพื่อเปรียบเทียบกับปะการังชนิดเดียวกันในพื้นที่บริเวณใกล้เคียง ที่ไม่ได้กางสแลนลดแสง ซึ่งปีนี้จากการคาดการณ์ว่าจะเกิดปะการังฟอกขาวในประเทศไทยในช่วงระหว่างเดือนเมษายน – กรกฎาคม 2567 ระดับความรุนแรงอาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ซึ่งสถานการณ์ปะการังฟอกขาวที่เกิดขึ้นในประเทศไทย พบว่ามีความรุนแรงในฝั่งอ่าวไทยมากกว่าฝั่งอันดามัน เกิดการฟอกขาวแล้วมากกว่า 50% ของพื้นที่แนวปะการังฝั่งอ่าวไทย เช่น พื้นที่เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกาะคราม จังหวัดชุมพร สำหรับในฝั่งอันดามันพบการฟอกขาว ไม่เกิน 20% ของพื้นที่ ส่วนใหญ่เกิดในบริเวณที่มีความลึกไม่เกิน 2 เมตร เช่น เกาะรอก จ.ตรัง ส่วนใหญ่จะพบว่าปะการังมีสีซีด ซึ่งเป็นผลกระทบจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมากกว่า 2 สัปดาห์
ทั้งนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้ร่วมปฏิบัติการกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและลดภัยคุกคามจากกิจกรรมการท่องเที่ยว ประมงชายฝั่ง การทิ้งขยะลงในทะเล รวมถึงการจัดทำแนวทางการป้องกันปะการังฟอกขาวให้หน่วยงานในพื้นที่ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับปะการังฟอกขาวให้แก่เครือข่ายอนุรักษ์ปะการัง กลุ่มนักดำน้ำ นักท่องเที่ยว สถานที่ประกอบการร้านค้า โรงแรม และประชาชนในพื้นที่ ร่วมกันดูแลเฝ้าระวัง
ด้านอธิบดี ทช. ไม่ได้นิ่งนอนใจได้ติดตามสถานการณ์ปะการังฟอกขาวอย่างใกล้ชิด ถ้าหากพบการเกิดปะการังฟอกขาวขั้นรุนแรง ให้ดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อบรรเทาความเครียดของปะการัง และจัดตั้งทีมประสานงานร่วมกับในพื้นที่ ให้การสนับสนุนในทุกๆ ด้าน อีกทั้งพร้อมประสานให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พิจารณาปิดจุดดำน้ำบางแห่งที่พบปะการังฟอกขาวเป็นจำนวนมาก โดยทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จะพยายามช่วยชีวิตปะการังโดยดำเนินการตามหลักวิชาการ เช่น การลดปริมาณแสงโดยการใช้วัสดุปิดบังแสงในแนวปะการังน้ำตื้น และการย้ายปะการังบางชนิดลงไปในระดับน้ำที่ลึกมากขึ้น และที่มีอุณหภูมิน้ำต่ำกว่าปกติ เพื่อให้ปะการังได้พักฟื้นกลับคืนสู่สภาพสมบูรณ์ดังเดิมอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ตนขอความร่วมมือไปยังพี่น้องประชาชนในพื้นที่ หากพบเห็นการเกิดปะการังฟอกขาว สามารถแจ้งข่าวสารผ่านเว็บไซต์ https://thailandcoralbleaching.dmcr.go.th/th เพื่อทุกฝ่ายจะได้เตรียมพร้อมรับมือและลงพื้นที่ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ปะการังฟอกขาวอย่างใกล้ชิดต่อไป ทั้งนี้ ทช. จะดำเนินการติดตามและรายงานผลเป็นระยะต่อไป