นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า ปัญหาเรื่องน้ำ เป็นปัญหาหนึ่งที่มีความสำคัญระดับชาติ ซึ่งกระทรวงมหาดไทย ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหา โดยมอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการร่วมมือกับจังหวัด และภาคีเครือข่าย โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทฤษฎีใหม่ประยุกต์ และอารยเกษตรของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยการนำที่ดินสาธารณประโยชน์หรือที่ดินของหน่วยงานภาครัฐมาดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริ ขับเคลื่อนตามพระราชปณิธาน “สืบสาน รักษา และต่อยอด” เพื่อช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งของประชาชน และพัฒนาคุณภาพชีวิต นําไปสู่การเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งที่ดี Change for Good ในพื้นที่ทุกมิติ สร้างความตระหนักรู้ในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรดินและน้ำ ภายใต้แนวคิด “ดินดี น้ำดี ชีวีมีสุข อย่างยั่งยืน : Sustainable Soil and Water for better life” ต่อไป
นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ตามที่กระทรวงมหาดไทย มอบหมายให้ดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริ ในพื้นที่นำร่อง 6 พื้นที่ (1 พื้นที่เป้าหมาย ต่อ 1 ภาค) ได้แก่ จังหวัดพะเยา จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดนครนายก จังหวัดจันทบุรี จังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดสตูล แล้วยังขยายผลไปยังทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา วันที่ 28 กรกฎาคม 2567 เพื่อช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหา น้ำท่วม น้ำแล้ง และพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน เกิดการพัฒนาแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน และเพื่อเป็นพื้นที่การเรียนรู้ในการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ประยุกต์แบบอารยเกษตรมาดำเนินการในพื้นที่นำร่อง 6 พื้นที่ ดังนี้
1. ภาคเหนือ จังหวัดพะเยา บริเวณหนองเล็งทราย ต.ป่าแฝก อ.แม่ใจ จ.พะเยา พื้นที่โครงการประมาณ 346 ไร่ 1 งาน 2. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดอุบลราชธานี บริเวณชุมชนวังอ้อต.หัวดอน อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี พื้นที่โครงการประมาณ 62 ไร่ 3. ภาคกลาง จังหวัดนครนายก บริเวณคลอง 15 ต.คลองใหญ่ อ.องครักษ์ จ.นครนายก พื้นที่โครงการประมาณ 150 ไร่ 4. ภาคตะวันออก จังหวัดจันทบุรี บริเวณ ต.ท่าหลวง อ.มะขาม จ.จันทบุรี พื้นที่โครงการประมาณ 294 ไร่ 5. ภาคตะวันตก จังหวัดกาญจนบุรี บริเวณ ต.หนองบัว อ.เมืองกาญจนบุรี จ.กาญจนบุรี พื้นที่โครงการประมาณ 55 ไร่ 3 งาน 93 ตารางวา 6. ภาคใต้ จังหวัดสตูล บริเวณศูนย์สารภี ต.ละงู อ.ละงู จ.สตูล พื้นที่โครงการประมาณ 233 ไร่ 1 งาน 80 ตารางวา
ผลจากการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่แบบอารยเกษตร จะช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งโดยการกักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝนไว้ใช้ในฤดูแล้งและพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรากฐานการดำรงชีวิต และพัฒนาสู่อนาคตได้อย่างมั่นคง เป็นพื้นที่ที่ต้นแบบสำหรับเรียนรู้การพัฒนาพื้นที่เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตรตามแนว พระราชดำริเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น