สวธ.ระดมเครือข่ายผู้ประกอบการ สาธารณสุข พัฒนาชุมชน Influencer สื่อมวลชนด้านอาหาร ทั่วประเทศ พร้อมขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมและพัฒนายกระดับอาหารถิ่น (Thailand Best Local Food) ปีที่ 2

วันที่ 15 พฤษภาคม 2567 เวลา 09.00 น. อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม มอบหมายให้ นางสาววราพรรณ ชัยชนะศิริ รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เป็นประธานพิธีเปิด การประชุมเชิงปฏิบัติการการชี้แจงแนวทางการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมและพัฒนายกระดับอาหารถิ่น สู่มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย (Thailand Best Local Food) “รสชาติ…ที่หายไป The Lost Taste” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 “1 จังหวัด 1 เมนูเชิดชูอาหารถิ่น” โดย นางสาวปราณิสา เตียวพิพิธพร ผู้เชี่ยวชาญด้านเครือข่ายและชุมชน สวธ. กล่าวรายงาน  นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พร้อมกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิโคราการ ผู้แทนองค์กรภาคีด้านสาธารณสุข พัฒนาชุมชน ผู้ประกอบการอาหาร Influencer และสื่อมวลชนด้านอาหาร ณ ห้องประชุมโรงแรมเดอะพาลาสโซ ถนนรัชดาภิเษก เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ

นางสาววราพรรณ รองอธิบดี สวธ. กล่าวว่า “อาหาร” เป็นภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของมนุษย์ ที่สะท้อนความคิด วิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญา ตั้งแต่การเลือกวัตถุดิบ การประกอบอาหาร การปรุงรสอาหาร วิธีการรับประทาน ข้อกำหนดและข้อห้ามเกี่ยวกับอาหาร แตกต่างกันไปตามเชื้อชาติ ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม รวมถึงการติดต่อสัมพันธ์กับต่างชาติ  ซึ่ง โครงการ “1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น” ในปีที่ผ่านมาได้รับความสนใจจากประชาชนและนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดียิ่ง รวมถึงหลายเมนูก็ได้มีโอกาสต้อนรับ ครม.สัญจรด้วย ดังนั้น การได้ดำเนินโครงการนี้อย่างต่อเนื่องจึงเป็นโอกาสดีที่จะได้รวบรวมเมนูอาหารถิ่นที่กำลังจะเลือนหาย มาสืบสาน พัฒนา สร้างสรรค์ ยกระดับเป็นอาหารประจำถิ่น รณรงค์ให้เกิดความตระหนักภาคภูมิใจอาหารไทยพื้นถิ่น ปลูกฝังค่านิยมการรับประทานอาหารที่ปรุงด้วยภูมิปัญญาพื้นบ้านแก่เยาวชนรุ่นใหม่ เพิ่มคุณค่าและมูลค่าของอาหารไทย เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและยกระดับเศรษฐกิจของชุมชนอย่างยั่งยืน

“การได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการแพทย์แผนไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ยิ่งเป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับชุมชน มุ่งสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์อย่างมีส่วนร่วมในระดับประเทศและนานาชาติ ตามยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ Thailand creative content agency (THACCA) กับ 11 กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ได้อย่างมีศักยภาพ” นางสาววราพรรณ กล่าว

ด้าน นางสาวปราณิสา เตียวพิพิธพร ผู้เชี่ยวชาญด้านเครือข่ายและชุมชน กล่าวว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ สรุปผลการดำเนินงานโครงการฯ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา และชี้แจงแนวทางการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมและพัฒนายกระดับอาหารถิ่นฯ (Thailand Best Local Food) “รสชาติ…ที่หายไป The Lost Taste” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567  ซึ่งคณะทำงานในแต่ละจังหวัดจะต้องนำกลับไปดำเนินการคัดเลือกเมนูอาหารท้องถิ่นของตนเอง ตามหลักเกณฑ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ในสาระสำคัญ 5 ด้าน ประกอบด้วย 1. การใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่น 2. มีเคล็ดลับวิธีการปรุง/ มีประวัติความเป็นมา 3. โภชนาการและสมุนไพร 4. การสืบสานและถ่ายทอด และ 5. ด้านการต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้เศรษฐกิจ

ผู้เชี่ยวชาญฯ กล่าวอีกว่า ในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมฯ ทั้งสิ้น 231 คน ประกอบด้วย วัฒนธรรมจังหวัด นักวิชาการวัฒนธรรม (ผู้รับผิดชอบโครงการฯ) และ Influencer หรือสื่อมวลชน ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกิจกรรม ได้แก่ 1. การเสวนาเรื่อง “การสรุปผลการดำเนินงานกับการพัฒนายกระดับอาหารถิ่นอัตลักษณ์ความเป็นไทยสู่สากล” 2. การเสวนาเรื่อง “การส่งเสริมและพัฒนาอาหารไทยถิ่น เพื่อการท่องเที่ยวและยกระดับเศรษฐกิจของชุมชนอย่างยั่งยืน”  3. การบรรยายหัวข้อ “การพัฒนาผลิตภัณฑ์เมนูอาหารถิ่น เพื่อการตลาด”  4. การบรรยายหัวข้อ “การพัฒนาเมนูอาหารถิ่น สู่โมเดลธุรกิจและการเติบโตการตลาดดิจิทัล และเครื่องมือการเก็บผลโหวตเมนูถิ่นระดับจังหวัด”  5. การบรรยายหัวข้อ “การใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ด้านอาหาร กับ AI ChatGPT”

ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ จัดในระหว่าง 15-17 พฤษภาคม 2567 ซึ่งมุ่งหวังผู้เข้าร่วมได้รับความรู้และสามารถนำแนวทางที่ได้รับกลับไปดำเนินการคัดเลือกเมนูอาหารของจังหวัด ได้อย่างราบรื่น ได้เมนูอาหารถิ่นที่นำไปสู่กระแสความสนใจอย่างแพร่หลาย และเกิดความตระหนักภาคภูมิใจในอาหารไทยพื้นถิ่นของตนเอง รวมถึงสามารถพัฒนายกระดับและต่อยอดไปสู่อาหารจานพิเศษระดับสากล ที่เพิ่มคุณค่าและมูลค่าของอาหารไทย สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการอาหารในพื้นที่สู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป

ภายหลังพิธีเปิด มีการเสวนาหัวข้อ “การสรุปผลการดำเนินงานกับการพัฒนายกระดับอาหาร ถิ่นอัตลักษณ์ความเป็นไทยสู่สากล” โดยมี นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้กล่าวถึง ผู้บริโภครุ่นใหม่คำนึงถึงคุณค่าและประโยชน์สูงสุด ของอาหารที่จะบริโภคในแง่ของสุขภาพ ไม่ใช่รับประทานเพื่อความอร่อยหรือถูกปากเพียง รวมถึงการประยุกต์ใช้ เพื่อยกระดับอาหารในโครงการฯ  ด้านผู้แทนเครือข่ายจังหวัดระนอง (ผู้ประกอบการที่ต่อยอดเชิงสร้างสรรค์) นางสาวนงเยาว์ มานะเลิศสกุล ร้านติน คาเฟ่ จังหวัดระนอง ได้สรุปผลการดำเนินการและความสำเร็จของเมนู “ก๊กซิมบี” ที่ได้รับความนิยมและเป็นเมนูที่นักท่องเที่ยวต้องชิมเมื่อมาเที่ยวจังหวัดระนอง  นางลิลี่ แซ่ตั้ง ผู้แทนเครือข่ายจังหวัดจันทบุรี (นักพัฒนาชุมชน/ ตลาดชุมชน) พูดถึงผลการดำเนินการ/ความสำเร็จของเมนู ลุกกะทิชอง ซึ่งเป็นอาหาร เด่นจากชาติพันธุ์ รวมถึงแนวทางการพัฒนาเพื่อส่งเสริม และต่อยอดสร้างความเข้มแข็งของตลาดชุมชน  ด้าน นายพรปวีณ์ กิจทรัพย์บารมี (เจ๊ต๊อกแต๊ก แรดแซ่บนัวบันเทิงศิลป์) ผู้แทนเครือข่าย Influencer พูดถึงแรงบันดาลใจในการทำ Content อาหารไทยถิ่น คำแนะนำ / มุมมอง / ประเด็น / ข้อพึงระวัง ในการสร้างการรับรู้ สร้างยอดผู้ติดตามพร้อมมีส่วนร่วมของผู้ชม โดยมี ดร.สง่า ดามาพงษ์ วิทยากรดำเนินรายการ ได้สรุปสาระสำคัญของโครงการในปี 2567 และนำเข้าสู่ความสำคัญในหัวข้อต่าง ๆ ของการประชุม

และในภาคบ่าย เวลา 13.00 น. มีการเสวนาหัวข้อ “การส่งเสริมและพัฒนาอาหารไทยถิ่น เพื่อการท่องเที่ยวและยกระดับเศรษฐกิจของชุมชนอย่างยั่งยืน” วิทยากรประกอบด้วย รศ.บำเพ็ญ เขียวหวาน ผู้เชี่ยวชาญด้านวิจัยภูมิปัญญาและการพัฒนาชุมชน พูดถึงความสำคัญและความพร้อมของการเกษตรในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาอาหารไทยถิ่น เชื่อมโยงไปสู่การสืบสานภูมิปัญญาและการพัฒนาชุมชน  พท.ป.อุบลรัตน์ มโนศิลป์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก  พูดถึงความสำคัญของโภชนาการ/ สมุนไพร องค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญในอาหารถิ่นเพื่อส่งเสริม และพัฒนาอาหารไทยถิ่น ทั้งในด้านคุณค่าและมูลค่า

นายจรงค์ศักดิ์ รองเดช (พี่สตังค์) พิธีกรและผู้ผลิตรายการ “ภัตตาคารบ้านทุ่ง” กล่าวถึงมุมมองในการหาจุดเด่นของอาหารถิ่นเพื่อการนำเสนอ วิธีการเล่าเรื่องอาหารไทยถิ่นในทุกภูมิภาค การสร้างสรรค์และเสริมสร้างภาพลักษณ์อาหารถิ่น  โดยมี นายวรพงศ์ ผูกภู่ วิทยากรดำเนินรายการ ได้กล่าวสรุปสาระสำคัญในกรอบการทำงานของโครงการในปี 2567 อีกด้วย

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้ การจดจำต่อสาธารณะ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จึงได้จัดการประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์ (Logo) และป้ายประจำโครงการส่งเสริมฯ (Thailand Best Local Food) สำหรับนำไปให้กับผู้ประกอบการร้านอาหาร หรือชุมชนที่เกี่ยวข้อง ใช้ในการประชาสัมพันธ์ โดยขอเชิญชวนนักเรียน เยาวชนและบุคคลทั่วไป สมัครและส่งผลงานการออกแบบเข้าประกวด พร้อมชิงรางวัลรวม 50,000 บาท ศึกษารายละเอียดได้ทางเว็บไซต์ www.culture.go.th หรือ Facebook อาหารไทยถิ่น Thailand Best Local Food และติดต่อได้ที่ กลุ่มสนับสนุนกิจการพิเศษ กองกิจการเครือข่ายทางวัฒนธรรม โทรศัพท์ 0 2247 0013 ต่อ 1419, 1414 (ในเวลาราชการ)

#1จังหวัด1เมนูเชิดชูอาหารถิ่น #ThailandBestLocalFood #รสชาติ…ที่หายไป #กรมส่งเสริมวัฒนธรรม