ก.แรงงาน ร่วมแชร์ประสบการณ์ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ด้านพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ในการประชุม องค์การการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ พร้อมโหวตหาเจ้าภาพจัดการแข่งขันครั้งที่ 47
เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2562 นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะตัวแทนประเทศไทย เข้าร่วมประชุมสมัชชาใหญ่ องค์การการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ (General Assembly Meeting) ร่วมกับประเทศสมาชิก 68 ประเทศเพื่อโหวตเลือกเจ้าภาพจัดการแข่งขัน WorldSkills ครั้งที่ 47 ที่จะจัดขึ้นใน 4 ปีข้างหน้า
โดย นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยหลังเข้าร่วมการประชุมว่า การประชุมครั้งนี้ มีจุดประสงค์ที่จะกำหนดนโยบายและทิศทางการดำเนินงานขององค์กร ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก 82 ประเทศ โดยผู้แทนทางการ (Official Delegate) ของแต่ละประเทศ จะร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์ของ WorldSkills International ส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของเยาวชนระหว่างประเทศ รวมถึงให้คำแนะนำและแก้ไขปัญหาของทุกทีมระหว่างการแข่งขัน โดยที่ประชุมได้ลงมติรับรองให้ประเทศโปแลนด์ เข้าเป็นสมาชิกลำดับที่ 80 กาน่าเป็นสมาชิกลำดับที่ 81 และประเทศอูกันดา เป็นสมาชิกในลำดับที่ 82
นอกจากนี้ ยังมีการโหวตคัดเลือกประเทศสมาชิก ที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ ครั้งที่ 47 (WorldSkills Competition 2023) ในอีก 4 ปีข้างหน้า ต่อจาก ครั้งที่ 46 ที่จะจัดขึ้นที่เมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ในปี 2021 โดยครั้งนี้ มีประเทศที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน 2 ประเทศคือประเทศฝรั่งเศสและประเทศญี่ปุ่น ซึ่งผลการโหวตปรากฏว่าประเทศฝรั่งเศสได้รับคะแนนเสียงจากประเทศสมาชิก 64 ประเทศ ให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ ครั้งที่ 47 ในอีก 4 ปีข้างหน้า ภายใต้ชื่อ WorldSkills Lyon 2023
ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวเสริมว่า การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน WorldSkills จะช่วยกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการนำเสนอนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ในสาขาอาชีพนั้นๆ และแนะนำทักษะวิชาชีพในอนาคต (Future Skills) ให้แก่ผู้ร่วมงาน สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาทักษะฝีมือให้กับเยาวชนในประเทศเพื่อรองรับงานในอนาคต ดึงเยาวชนให้หันเข้าสู่ระบบอาชีวศึกษามากขึ้น เปิดโอกาสให้ประเทศเจ้าภาพได้แสดงความพร้อมและศักยภาพในการรองรับงานระดับนานาชาติ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม เป็นตัวชี้วัดผลลัพธ์ทางการศึกษาและเทียบเคียงมาตรฐานการปฏิบัติงานของแต่ละประเทศ โดยอิงกับข้อกำหนดมาตรฐานของ WorldSkills เปิดโอกาสให้หน่วยงานด้านการศึกษาของแต่ละประเทศ ได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยีกับผู้แทนภาคอุตสาหกรรม ผ่านคณะอนุกรรมการ ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน และมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ
คาดว่า เยาวชนไทย ที่เข้าร่วมแข่งขัน จะแสดงทักษะความชำนาญที่ได้จากการฝึกซ้อมและแข่งขันที่ผ่านมาเพื่อแสดงให้นานาประเทศประจักษ์ในความสามารถ โดยกลุ่มสาขาอาชีพที่เยาวชนไทยทำผลงานได้ดี ได้แก่ กลุ่มอาชีพเทคโนโลยีอุตสาหกรรมการผลิต และงานบริการส่วนบุคคลและสังคม เชื่อว่าประสบการณ์ที่ได้รับ เป็นประโยชน์ในการปฏิบัติงานในแต่ละสาขาอาชีพ ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ในการศึกษาและฝึกอบรมด้านอาชีพให้มีประสิทธิภาพ ทันต่อเทคโนโลยีและได้มาตรฐานทัดเทียมนานาประเทศ รวมถึงได้เห็นทิศทางของเทคโนโลยีและอาชีพที่เป็นที่ต้องการในอนาคต
“ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน ยังเตรียมการ วางแผนเพื่อจัดส่งเยาวชนเข้าแข่งในสาขาใหม่ๆ เช่น สาขาการออกแบบเกมสามมิติ (3D Digital Game Art), สาขาการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วย (Health and Social Care) เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ, สาขาผู้ขนส่งสินค้า (Freight Forwarding), สาขาซ่อมบำรุงตัวถังรถยนต์ (Autobody Repair) ซึ่งสอดรับกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต” นายสุทธิ กล่าวทิ้งท้าย