สช.ระดมภาคีเครือข่ายร่วมเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น มีฉันทมติต่อข้อเสนอเชิงนโยบาย “การปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า” เห็นชอบข้อเสนอ 5 มาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ทั้งการสร้างความรับรู้โทษภัย-บังคับใช้กฎหมายจริงจัง คงไว้ซึ่งนโยบายห้ามนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมเตรียมเสนอเข้าสู่ที่ประชุม คสช. ช่วงเดือน มิ.ย.นี้ ก่อนเสนอ ครม. เพื่อเป็นนโยบายให้แก่หน่วยงานต่างๆ ต่อไป
เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2567 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พร้อมด้วยหน่วยงานภาคีเครือข่าย จัดเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น “การปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า” โดยสมาชิกสมัชชาสุขภาพที่เข้าร่วม ซึ่งประกอบไปด้วยภาคีเครือข่ายหน่วยงาน องค์กร ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน/ประชาสังคม ได้ร่วมกันมีฉันทมติเห็นชอบต่อกรอบทิศทางนโยบาย (Policy Statement) และสาระสำคัญประกอบกรอบทิศทางนโยบายของการปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า
สำหรับกรอบทิศทางนโยบายดังกล่าว มุ่งเน้นการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากภยันตรายและการเสพติดของบุหรี่ไฟฟ้า โดยดำเนินการตามที่คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ (คผยช.) เห็นชอบตาม “มาตรการการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย” เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งประกอบไปด้วย 5 มาตรการที่สำคัญ
ทั้งนี้ ได้แก่ 1. พัฒนาและจัดการองค์ความรู้ 2. สร้างการรับรู้ภยันตรายและการเสพติดของบุหรี่ไฟฟ้าแก่เด็ก เยาวชน และสาธารณชน 3. เฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า 4. พัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายเพื่อสนับสนุนมาตรการป้องกันควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า 5. ยืนยันนโยบายและมาตรการป้องกันและปราบปรามการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้า โดยที่คำนึงถึงพันธสัญญาที่ประเทศไทยได้ร่วมเป็นสมาชิกและต้องดำเนินการตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก
ศ.พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ ประธานคณะกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะประเด็นการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า เปิดเผยว่า ปัจจุบันวิกฤติบุหรี่ไฟฟ้าเรียกได้ว่าเป็นสึนามิที่ถาโถมเข้ามาในสังคมไทย เพราะเป็นปัญหาที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและมีอำนาจทำลายล้างสูง โดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชนของประเทศ ซึ่งข้อเสนอเชิงนโยบายที่ทุกฝ่ายได้ให้ฉันทมติเห็นชอบร่วมกันในวันนี้ เชื่อว่าจะนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังเพื่อเดินหน้าป้องปราม และปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าในสังคมไทยให้เป็นรูปธรรมได้ต่อไป
ในส่วนของสาระสำคัญรวม 6 ข้อ ภายใต้ทิศทางนโยบายนี้ ไม่ว่าจะเป็น 1. สร้างความตระหนักรู้ถึงภยันตรายและการเสพติดของบุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกต้องและทันเหตุการณ์ มีผู้เกี่ยวข้อง อาทิ สถานศึกษาทุกระดับทุกสังกัดทั้งภาครัฐและภาคเอกชน 2. เฝ้าระวังและกำกับการนําเสนอเนื้อหาสาระและการผลิตสื่อต่างๆ มีผู้เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กรมประชาสัมพันธ์ 3. เพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับการบังคับใช้กฎหมายให้จริงจังมากขึ้น มีผู้เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กรมศุลกากร และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 4. สร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ชุมชน มาร่วมสนับสนุนป้องกันการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้า มีผู้เกี่ยวข้อง อาทิ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 5. เป็นแบบอย่างที่ดีในการไม่สูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า มีผู้เกี่ยวข้อง อาทิ เจ้าหน้าที่ของรัฐ 6. คงไว้ซึ่งนโยบายห้ามนําเข้าและจําหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ป้องกันการแทรกแซงจากอุตสาหกรรมยาสูบ มีผู้เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลัง
ศ.พญ.สุวรรณา กล่าวว่า แนวทางทั้งหมดนี้มาจากกระบวนการทำงานทางวิชาการกว่า 5 เดือน ที่ทางคณะกรรมการพัฒนานโยบายฯ ได้รับฟังความคิดเห็นและกลั่นกรองข้อเสนอจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในภาคส่วนต่างๆ เพื่อร่างเป็นแนวทางข้อเสนอแก่หน่วยงานต่างๆ ในการดำเนินนโยบาย ซึ่งหลังจากนี้ทางคณะกรรมการฯ จะนำประเด็นและข้อเสนอเพิ่มเติมที่ได้จากเวทีสมัชชาฯ ไปปรับเนื้อหามติให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ก่อนเสนอให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ในช่วงเดือน มิ.ย.นี้ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) นำมตินี้ไปมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป
“สิ่งสำคัญคือการบังคับใช้กฎหมาย เพราะไทยเรามีกฎหมายที่ครอบคลุมตั้งแต่การห้ามนำเข้า ห้ามจำหน่าย ห้ามครอบครอง ซึ่งความจริงไทยถือว่าทันสมัยมาก เพราะเป็นเพียง 1 ใน 4 ประเทศที่มีกฎห้ามนำเข้า มาตั้งแต่ช่วงปี 2557 ก่อนที่ปัจจุบันจะมีเพิ่มเป็น 43 ประเทศ เพราะเขาล้วนเห็นถึงโทษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า ดังนั้นนี่จึงเป็นเรื่องที่ดีและเราอยากให้รัฐบาลยังคงกฎหมายห้ามนำเข้านี้ไว้ แต่อาจจะต้องกลับมาขันน็อตในส่วนของการบังคับใช้ ที่เราอาจยังไม่เข้มงวดมากพอ เพื่อให้การปราบปรามเป็นไปได้อย่างจริงจัง” ศ.พญ.สุวรรณา ระบุ
ขณะที่ ผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย รองประธานคณะกรรมการพัฒนานโยบายฯ กล่าวว่า ทางคณะกรรมการฯ ได้มีการหารือร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและมีบทบาทสำคัญต่อการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าไปแล้วในหลายเวที ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจแพลตฟอร์มออนไลน์และการขนส่งสินค้า กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการสร้างการรับรู้ การสื่อสาร และการบังคับใช้กฎหมาย ตลอดจนยังมีการเรียนรู้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการบังคับใช้กฎหมายออนไลน์จากสิงคโปร์ และฮ่องกง ทำให้ได้เห็นภาพรวมจุดแข็ง จุดอ่อนต่างๆ มากขึ้น ก่อนที่จะมีการเรียบเรียงออกมาเป็นแนวนโยบายที่นำเสนอในครั้งนี้
“ในมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นเรื่องนี้ เราพยายามเขียนเนื้อหาให้ครบในทุกระบบ ทุกมิติ ที่จะมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าที่กระทบต่อเด็กและเยาวชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่การขับเคลื่อนในเรื่องนี้ยังเป็นสิ่งที่เราต้องช่วยกันไปอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการนำแนวปฏิบัติข้อ 5.3 ของกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบของ WHO ที่ว่าด้วยการปกป้องการแทรกแซงจากอุตสาหกรรมยาสูบ มาดำเนินการเพื่อให้การควบคุมบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้ามีประสิทธิภาพ” ผศ.ดร.ลักขณา ระบุ
ด้าน นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เชื่อว่าเรื่องนี้กำลังเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายให้ความสำคัญและให้ความสนใจ เพราะเป็นปัญหาที่เราจะเห็นได้ว่ามีการแพร่ระบาดมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ แม้จะมีกฎหมายบังคับใช้มาเป็นระยะเวลาร่วม 10 ปี ตั้งแต่การห้ามนำเข้า ห้ามจำหน่าย ห้ามครอบครอง ห้ามสูบในที่สาธารณะ
“สถานการณ์บุหรี่ไฟฟ้ามีความน่าเป็นห่วงมาก เพราะธุรกิจพวกนี้กะกินยาว โดยมุ่งตลาดไปที่เด็กและเยาวชนซึ่งถือเป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศ ยิ่งโดยเฉพาะประเทศเรามีประชากรเกิดน้อยลง การพัฒนาคุณภาพก็ต้องมาให้ความสำคัญและดูแลกันมากขึ้น ซึ่งมติและข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์ที่ได้รับมาในวันนี้ เชื่อว่าจะนำไปสู่การเกิดเป็นนโยบาย มาตรการ รวมถึงการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม เพื่อปกป้องสุขภาพลูกหลานของเราต่อไป” นพ.สุเทพ ระบุ