วศ.อว. ร่วม ครม.สัญจร ครั้งที่ 3/2567 “ฐานเศรษฐกิจสีเขียว และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ”จังหวัดเพชรบุรี หนุนเทคโนโลยีตอบโจทย์ชุมชน พร้อมโชว์ผลงานเด่นต้อนรับคณะรัฐมนตรี อว.

จังหวัดเพชรบุรี อันเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคกลางตอนล่างของประเทศที่เป็นประตูสู่ภาคใต้ โดยอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศเป็นระยะทางประมาณ 120 กิโลเมตร ตามเส้นทางถนนธนบุรี-ปากท่อและถนนเพชรเกษมดยทั่วไปส่วนใหญ่ของจังหวัดมีลักษณะเป็นที่ราบสูงและภูเขาสูงชัน โดยที่ผ่านมา กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยกองเทคโนโลยีชุมชน ได้นำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) มาขับเคลื่อนสู่ชุมชนจังหวัดเพชรบุรีอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการหรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสามารถพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นให้มีคุณภาพและมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของตลาดและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค

วันที่ 13 พฤษภาคม 2567 นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ ได้นำทีมนักวิทยาศาสตร์กองเทคโนโลยีชุมชนกว่า 15 คน ลงพื้นที่สวนตาลลุงถนอม ตำบลถ้ำรงค์ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี เพื่อหารือร่วมกับผู้ประกอบการในพื้นที่ พร้อมทั้งคำปรึกษาเชิงลึก ปรับปรุงคุณภาพ แก้ไขปัญหาการผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสมุนไพร และผลิตภัณฑ์อาหารให้ได้คุณภาพ เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคมากขึ้น โดยให้คำปรึกษาแก่วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยว ชุมชนบ้านไร่สะท้อน ถ้ำรงค์ ตำบลถ้ำรงค์ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งมีประเด็นปัญหาในเรื่องของผลิตภัณฑ์สบู่กลีเซอรีนที่มีส่วนผสมของเนื้อลูกตาลมีคุณภาพไม่สม่ำเสมอ และมีรููปแบบที่ไม่สวยงาม วศ. จึงเข้ามาช่วยให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการสกัดเนื้อลูกตาล การเลือกซื้อวัตถุดิบ การควบคุมกรรมวิธีการผลิตและปรับปรุงสูตรผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพสม่ำเสมอเป็นไปตามมาตรฐานกำหนด และมีรูปแบบที่สวยงามมากขึ้น สำหรับประเด็นปัญหาในเรื่องผลิตภัณฑ์ไซรัปน้ำจากตาลโตนดเกิดการตกผลึกเมื่อเก็บผลิตภัณฑ์ไว้ วศ. ได้เข้ามาช่วยให้คำแนะนำเกี่ยวกับการพัฒนากระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ ร่วมกับการปรับปรุงประสิทธิภาพและลดสิ่งที่ไม่เกิดมูลค่าในกระบวนการผลิต โดยใช้แนวคิดแบบลีน (Lean Thinking) ร่วมกับทำการวิเคราะห์ด้วยแผนภูมิกระบวนการไหล (Flow Process Chart) เพื่อให้เข้าใจกระบวนการผลิตที่ดำเนินงานอยู่ในปัจจุบัน ประยุกต์ใช้แผนภาพแสดงสาเหตุและผล (Cause and Effect Diagram) และเครื่องมือ 5W+1H เพื่อเข้าใจสาเหตุของปัญหา และใช้แนวคิด ECRS ช่วยลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นในการทำงาน ช่วยประหยัดทรัพยากรต่างๆ เช่น ลดเวลาและขั้นตอนในการทำงาน ช่วยให้ระบบการทำงานของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยว ชุมชนบ้านไร่สะท้อน ถ้ำรงค์ มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยในการผลิตในการปรับปรุงกระบวนการผลิต

ในวันเดียวกัน นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. พร้อมคณะผู้บริหาร ใช้โอกาสในช่วง ครม.สัญจร และเข้าร่วมการประชุมหารือผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง (Top Executive) ครั้งที่ 5/2567 ระหว่างวันที่ 13-14 พฤษภาคม 2567 เดินทางตรวจติดตามผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน ณ จังหวัดเพชรบุรี พร้อมทั้งเยี่ยมชมนิทรรศการผลงานจากการถ่ายทอดเทคโนโลยีของ วศ. ในพื้นที่ ประกอบด้วย การพัฒนากระบวนการการผลิตและผลิตภัณฑ์แปรรูปตากน้ำตาลโตนด และการพัฒนาผลิตภัณฑ์สบู่กลีเซอรีน สูตรผสมเนื้อลูกตาล โดยมีคณะผู้บริหาร พร้อมทีมนักวิทยาศาสตร์ วศ. ให้การต้อนรับ

#กรมวิทยาศาสตร์บริการ #กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม #กระทรวงอว