รมว.เสริมศักดิ์ พร้อมหนุน เพชรบุรี ให้เป็นการท่องเที่ยวเชื่อมโยงแบบครบวงจร สร้างรายได้สู่ชุมชน สั่งการหน่วยงานเกี่ยวข้อง เร่งประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้

13 พฤษภาคม 2567 เวลา 12.55 น. นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมด้วย นางสาวพลอย ธนิกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายสันติ ป่าหวาย หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พลตำรวจโท ศักย์ศิรา เผือกอ่ำ ผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว และนางณัฏฐิรา แพงคุณ รองอธิบดีกรมการท่องเที่ยว ร่วมตรวจเยี่ยมและรับฟังสถานการณ์การท่องเที่ยว ณ วัดถ้ำแจง อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี

รมว.เสริมศักดิ์ และคณะได้พูดคุยถึงสถานการณ์การท่องเที่ยว กับพระมหา ดร.วิชัย เตชธมฺโม เจ้าอาวาสวัดถ้ำแจง ซึ่งจากการพูดคุย ทางวัดได้ขอรับการสนับสนุนส่งเสริม และพัฒนาด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดเพชรบุรี ในด้านต่างๆได้แก่ ด้านการประชาสัมพันธ์สถานที่ท่องเที่ยวเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รู้จักมากขึ้น ซึ่งจังหวัดเพชรบุรีมีแหล่งท่องเที่ยวที่สามารถเดินทางแบบเชื่อมโยงกันได้ อาทิ ถ้ำนาขวาง, ถ้ำค้างคาวนายาง, วนอุทยานเขานางพันธุรัตน์, โบราณสถานโคกเศรษฐี, ทองหทัย ศูนย์เรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ (ไร่ทองหทัย), โครงการชั่งหัวมัน, แก่งกระจาน, แหลมผักเบี้ย ซึ่งสามารถพัฒนาพื้นที่ในจังหวัดเพชรบุรีให้เป็นการท่องเที่ยวเชื่อมโยงแบบครบวงจร อันจะสามารถเพิ่มเงินทุนหมุนเวียน สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนได้อีกด้วย

รมว.เสริมศักดิ์ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงฯ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกันประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวของเพชรบุรี เพื่อสร้างการรับรู้ในวงกว้างไปยังนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติที่มีความศรัทธาและมีความเชื่อ (สายมูเตลู) ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดเพชรบุรียังมีพญานาคที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จึงเป็นจุดขายที่สามารถส่งเสริมและขยายผล ให้มีการเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวภายในจังหวัด จังหวัดใกล้เคียง ตลอดถึงเชื่อมโยงไปยังภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ ซึ่งก็เป็นความสอดคล้องกับนโยบายของจังหวัดเพชรบุรี ในการยกระดับเพชรบุรีสู่สากล (Cha-am Inter)

นอกจากนี้ รมว.ท่องเที่ยวฯ ยังได้มอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบภารกิจด้านการท่องเที่ยวของกระทรวง มีการบูรณาการและประสานงานกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมสนับสนุน และพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว และตรงตามความต้องการของแหล่งท่องเที่ยว เช่น การจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยว ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ห้องน้ำ ที่จอดรถ ตลอดถึงถนนหนทางภายในแหล่งท่องเที่ยว เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการสัญจรและใช้บริกา

สำหรับสถานการณ์การท่องเที่ยวของจังหวัดเพชรบุรี พบว่าในปี 2566 มีผู้เยี่ยมเยือน จำนวน 10,819,466 คน (+20.26) เป็นชาวไทย 10,670,442 คน (+19.29) ชาวต่างชาติ 149,024 คน (+186.59) มีรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน 32,334.35 ล้านบาท (+31.75) แยกเป็นรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 31,075.36 ล้านบาท (+28.31) รายได้จากผู้เยี่ยมเยือนชาวต่างชาติ 1,258.99 ล้านบาท (+290.76)

ในปี 2567 (เดือนมกราคม-มีนาคม) จังหวัดเพชรบุรี มีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนทั้งหมด 2,989,129 คน (+9.93) เป็นชาวไทย 2,920,517 คน (+8.86) ชาวต่างชาติ 68,612 คน (+89.34) มีรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน 9,537 ล้านบาท (+26.99) แยกเป็นรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 9,069 ล้านบาท (+24.32) และเป็นรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนชาวต่างชาติ 468 ล้านบาท (+117.56)