รมว.อว. “ศุภมาส” เปิดตัวโครงการ “ดูแลสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาขยะพลาสติก“ ร่วมมือภาครัฐ เอกชน ชวนผู้ป่วยเบาหวาน ‘เช็ก ถอด ทิ้ง’ คืนชีวิตใหม่ให้ปากกาอินซูลิน

วันที่ 10 พฤษภาคม 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า กระทรวง อว. ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในปัจจุบัน ตนได้เน้นย้ำ ให้ทุกหน่วยงานในกระทรวง อว. ตระหนักและดูแลปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ไปใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี สำหรับโครงการ “ดูแลสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาขยะพลาสติก“ ตนได้มอบหมายกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) เป็นหน่วยงานหลักเพื่อประสานการดำเนินงานกับหน่วยงานภายในและภายนอกกระทรวง อว. รวมถึงภาคเอกชน และภาคประชาชน และให้นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) เป็นผู้แทน รมว. อว. ร่วมเปิดตัว “โครงการ Sanofi Planet Care Upcycling Program” คืนชีวิตใหม่ให้ปากกาอินซูลิน โดยมีผู้แทนจากบริษัทชั้นนำด้านนวัตกรรมสุขภาพระดับโลก ผู้นำด้านธุรกิจเคมีภัณฑ์ครบวงจรเพื่อความยั่งยืน ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการขยะพลาสติกแบบครบวงจร พร้อมด้วยโรงพยาบาล ตลอดจนพันธมิตรจากภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันเปิดตัวโครงการฯ ดังกล่าว

นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ ผู้แทน รมว.อว. อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ เปิดเผยว่า ท่านรัฐมนตรีศุภมาส มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่ต้องเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งในกระทรวง อว. มีแผนงานและหน่วยงานร่วมกันแก้ไขและป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน

สำหรับ “โครงการ Sanofi Planet Care Upcycling Program” คืนชีวิตใหม่ให้ปากกาอินซูลิน เป็นหนึ่งตัวอย่างของโครงการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่เกิดจากพลังความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน ปัจจุบันคนไทยเป็นเบาหวานจำนวนมากกว่า 5 ล้านคน โดยผู้ป่วยจำนวนหนึ่งจะใช้ยาฉีดอินซูลินในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เมื่อใช้เสร็จแล้วอาจทิ้งไม่ถูกวิธีจนกลายเป็นขยะที่ต้องกำจัดให้ถูกสุขลักษณะและปลอดภัย ดังนั้นการรณรงค์ “เช็ก ถอด ทิ้ง” โดยตั้งกล่องรับคืนปากกาอินซูลินใช้แล้วในโรงพยาบาลเป็นตัวอย่างการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและน่าชื่นชมอย่างยิ่ง การผนึกกำลังของทุกฝ่ายเพื่อร่วมกันลดปัญหาการจัดการขยะและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม นับเป็นทางออกที่ดีในการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน สังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อม รวมถึงสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดี วศ.อว. กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการฯ ดังกล่าวถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดเก็บปากกาอินซูลินใช้แล้วนำไปรีไซเคิลอย่างถูกวิธีและถูกสุขลักษณะ รณรงค์ให้ผู้ป่วยเบาหวานส่งคืนปากกาอินซูลินใช้แล้ว โดยเริ่มนำร่องใน 6 โรงพยาบาลชั้นนำ ได้แก่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลศรีนครินทร์ และโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โดยร่วมมือกับบริษัทเอกชนชั้นนำ ได้แก่ บริษัทซาโนฟี่-อเวนตีส (ประเทศไทย) จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ ตลอดจนบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการขยะ บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจเคมีภัณฑ์ครบวงจรเพื่อความยั่งยืนและผู้เชี่ยวชาญด้าน Green Polymer บริษัทเซอร์พลาส เทค จำกัด (Cirplas) ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการขยะพลาสติกแบบครบวงจร สำหรับปากกาอินซูลินใช้แล้วเป็นหนึ่งในขยะทางการแพทย์ที่นับเป็นขยะอันตรายที่มีปริมาณมหาศาลและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งมีเพียง 13% เท่านั้นที่ได้รับการจัดเก็บและกำจัดอย่างถูกวิธี ที่เหลือเกือบ 90% เป็นขยะที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เกิดเป็นมลพิษที่ก่อให้เกิดการปนเปื้อนลงในดิน ในแหล่งน้ำ กระทบกับคุณภาพน้ำใช้อุปโภคบริโภค สุขภาพสัตว์น้ำ และย้อนกลับมาที่สุขภาพของเราเอง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสนับสนุนให้เกิดความตระหนักรู้เรื่องการแยกขยะแก่ประชาชน รณรงค์ให้กลุ่มผู้ป่วยเบาหวานมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการขยะอันตรายอย่างถูกวิธีและมีประสิทธิภาพ ดังนั้น การนำมารีไซเคิลเปลี่ยนพลาสติกจากปากกาอินซูลินใช้แล้วเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ด้วยเทคโนโลยี Advanced Recycling เป็นการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้อย่างเป็นรูปธรรม โครงการฯ ช่วยส่งเสริมการทิ้งขยะอันตรายในประเทศให้เป็นระบบและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สามารถลดปัญหาการแพร่กระจายของเชื้อโรคในชุมชนได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับแผนแม่บท “การจัดการขยะมูลฝอย” ในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและเสริมสร้างสุขอนามัยของประชาชนให้ปลอดภัย“โครงการ Sanofi Planet Care Upcycling Program คืนชีวิตใหม่ให้ปากกาอินซูลิน ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่นวัตกรรมสุขภาพดำเนินการควบคู่ไปกับการจัดการสิ่งแวดล้อม แสดงถึงพลังความร่วมมือของภาคีเครือข่ายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมกัน”

#กรมวิทยาศาสตร์บริการ #กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม #กระทรวงอว