เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2567 นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้เดินทางเข้ากระทรวงวัฒนธรรมเป็นครั้งแรก โดยถือฤกษ์ดีเวลา 08.19 น. สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงวัฒนธรรม โดยมีนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นางลาลีวรรณ กาญจนจารี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรมให้การต้อนรับ พร้อมให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า จะเพิ่มความเข้มข้นในการพัฒนาแนวทางใหม่ๆเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อมุ่งเป้ายกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพของการเป็นกระทรวงที่นำวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ มาใช้เป็นบทบาทนำในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทย โดยส่งเสริมให้ทุกคนร่วมกันนำวัฒนธรรมไทยมาสืบสาน รักษา และต่อยอดไปสู่มิติใหม่ๆ ให้เกิดการสร้างคุณค่าทางสังคมและมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งหัวใจสำคัญที่จะขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจวัฒนธรรมของประเทศไทย จะมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนา “คน สังคม เศรษฐกิจ เทคโนโลยี และ Soft Power” ควบคู่กันไป
“ดิฉันมองว่ากระทรวงวัฒนธรรมมีศักยภาพในการส่งเสริมเศรษฐกิจวัฒนธรรม เพื่อสร้างคุณค่าทางสังคมและมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยสนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากและอุตสาหกรรมวัฒนธรรมให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก เช่น การส่งเสริมอัตลักษณ์ของผ้าไทย ให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย โดยเฉพาะการเจาะกลุ่มลูกค้าระดับสูง ประเภท luxury หรือกลุ่มลูกค้าประเภท elite เพื่อนำอัตลักษณ์ความเป็นไทยของผ้าไทยไปเติบโตในระดับสากล รวมถึงการส่งเสริมและพัฒนาเครื่องประดับของไทยโดยนำลวดลายหรืออัตลักษณ์ของความเป็นไทยมาพัฒนาเพื่อก่อให้เกิดเป็นสินค้าและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง”
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวย้ำว่า อยากให้มีการส่งเสริมผ้าไทยที่มีอัตลักษณ์ในแต่ละภูมิภาค เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ จากผลิตภัณฑ์และสินค้าทางวัฒนธรรม เพื่อสนับสนุนนโยบาย One Family One Soft Power (OFOS) หรือ นโยบาย 1 ครอบครัว 1 Soft Power ของรัฐบาลที่กำลังขับเคลื่อน โดยจะเฟ้นหาศักยภาพของคนไทยทุกครอบครัว อย่างน้อยครอบครัวละหนึ่งคนเพื่อนำมาส่งเสริมบ่มเพาะศักยภาพเพื่อสร้างแรงงานทักษะสูงที่มีรายได้อย่างน้อย 200,000 บาทต่อปี
ขณะเดียวกันจะนำทุนทางวัฒนธรรมไทยที่เป็นเอกลักษณ์และมีอยู่อย่างหลากหลาย เช่น ศิลปะการแสดง งานช่างฝีมือดั้งเดิม งานประเพณีสำคัญๆ วัดและโบราณสถาน อุทยานประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ แหล่งท่องเที่ยวชุมชน มาพัฒนาให้เป็นทุนทางวัฒนธรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ผ่านแนวทางการเสริมสร้างภาพลักษณ์ เกียรติภูมิและยกระดับบทบาทด้านวัฒนธรรมของไทยในเวทีโลก รวมถึงถ่ายทอดและนำเสนอวัฒนธรรมไทยในมุมมองที่หลากหลาย โดยอาจมีการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมเพื่อสร้างให้เป็น Mega Event โดยเน้นการเสาะหาเสน่ห์ประเทศไทย ผ่านแนวทางการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์และความมีมิตรไมตรีจิตของคนไทย เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมกับต่างประเทศและส่งเสริมบทบาททางวัฒนธรรมของไทยในเวทีโลก
“ทิศทางการทำงานใหม่ๆของกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมจะเป็นกระทรวงที่ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมที่หลากหลายของไทย เพื่อสนับสนุนมิติทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม หนึ่งหมุดหมายที่ดิฉันมองว่าหากเราช่วยกันขับเคลื่อนในปีนี้ จะเห็นประเทศไทยมีหนึ่งภูมิภาค หนึ่งมรดกโลก และการสร้างสรรค์ให้งานประเพณีลอยกระทงให้เป็น World Event เหมือนงาน Maha Songkran World Water Festival เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ของปีนี้”
นางสาวสุดาวรรณ กล่าวว่า ทุกภาคส่วนของกระทรวงวัฒนธรรมจะร่วมกันขับเคลื่อนงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ วันที่ 28 กรกฎาคม 2567 รวมทั้งจะบูรณาการการทำงานระหว่างกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เดินหน้า Thailand Tourism 2025 ตามนโยบาย IGNITE Thailand ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี
“การทำงานของการดิฉันจะเน้นส่งเสริมเศรษฐกิจวัฒนธรรมเพื่อสร้างคุณค่าทางสังคมและมูลค่าทางเศรษฐกิจ การผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาล ตลอดจนนำวัฒนธรรมไทยที่จับต้องไม่ได้มาพัฒนาให้เกิดมูลค่าสูง ผลักดันการขึ้นทะเบียนมรดกโลกขององค์การยูเนสโก โดยเร่งรัดการขึ้นทะเบียนในส่วนที่เหลือภาคใต้ และภาคอื่นๆ ที่มีการขึ้นทะเบียนแล้ว ต้องประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จัก การส่งเสริมร้านค้าของที่ระลึกจากสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ และจะมีการสร้างเนื้อหาเพื่อสื่อสารในช่องทางใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมการรับรู้และความตระหนักถึงวัฒนธรรมไทยของเยาวชนและคนรุ่นใหม่ของไทยด้วย”