อธิบดีฯ วิศิษฐ์ ในฐานะผู้แทน รมว.เกษตรฯ ร่วมประชุม APCMC ครั้งที่ 11 พร้อมกล่าวถ้อยแถลงนโยบายสำคัญเพื่อพัฒนาระบบสหกรณ์ไทยเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีที่รับผิดชอบงานด้านสหกรณ์ของประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 11 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง (11th Asia Pacific Cooperative Minister’s Conference) โดยมี นายสุภาค โปร่งธุระ เอกอัครราชทูต ณ กรุงอัมมาน นางสาวเจษฎาภรณ์ สถาปัตยานนท์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิเทศสัมพันธ์ กองแผนงาน กรมส่งเสริมสหกรณ์ และคณะ เข้าร่วมประชุมระหว่างวันที่ 28 – 30 เมษายน 2567 ณ โรงแรม Crowne Plaza Jordan Dead Sea Resort & Spa ราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดน

การนี้ อธิบดีฯ วิศิษฐ์ ในฐานะผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งเป็นผู้แทนจากภาครัฐ ได้กล่าวถ้อยแถลง โดยกล่าวถึงบทบาทสำคัญของระบบสหกรณ์ที่มีความสำคัญต่อระบบอาหารและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร รวมถึงสนับสนุนการดำเนินงานร่วมกันในการพัฒนาความเข้มแข็งของพันธมิตรระหว่างภาครัฐและภาคสหกรณ์ในการพัฒนาการกระทำร่วม (Join Action) ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนยืนของภาพรวมเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ตลอดจนสิ่งแวดล้อม โดยมีประชาชนและสมาชิกสหกรณ์เป็นศูนย์กลางในการกำหนดนโยบาย และการดำเนินงานร่วมกัน

“ขอยืนยันความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการพัฒนาระบบอาหารผ่านยุทธศาสตร์ BCG Economy ซึ่งเป็นโมเดลเศรษฐกิจแบบองค์รวมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามายกระดับความสามารถในการแข่งขันใน 3 มิติ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว” อธิบดีฯ วิศิษฐ์ กล่าว

นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงนโยบายสำคัญในการพัฒนาระบบสหกรณ์ในประเทศไทย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ให้สมาชิกสหกรณ์” การพัฒนาสหกรณ์ให้มีศักยภาพในการแข่งขัน การสร้างความเชื่อมั่นของสมาชิกในการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่พันธมิตร ซึ่งเป็นผู้ซื้อสินค้าของสหกรณ์ ผู้แปรรูป แหล่งตลาด ไปจนถึงผู้บริโภค ตลอดจนยุทธศาสตร์การพัฒนาสหกรณ์ นโยบายในการเสริมศักยภาพให้แก่สหกรณ์และสมาชิก ได้แก่ การพักหนี้เกษตรกรควบคู่ไปกับการเพิ่มรายได้ ลดต้นทุนการผลิต ส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตร การพัฒนาอัตลักษณ์สินค้า พร้อมกับส่งเสริมอุปกรณ์การตลาดที่จำเป็น เชื่อมโยงกระบวนการผลิต รวบรวม แปรรูป และการตลาด เพื่อเพิ่มรายได้ให้สมาชิกสหกรณ์

ตลอดจนความสำคัญต่อการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนที่มีปริมาณสินทรัพย์รวมกว่า 3.4 ล้านล้านบาท เติบโตเฉลี่ย ปีละ 7.4% จากการเพิ่มขึ้นของเงินรับฝากสมาชิกและทุนเรือนหุ้น โดยภาครัฐได้ออกกฎกระทรวงการดำเนินงานและการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ. 2564 ที่ควบคุมกำกับดูแลการดำเนินงานทางการเงิน สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนไว้เป็นการเฉพาะ สำหรับกำกับดูแลและตรวจสอบการดำเนินการของสหกรณ์ภาคการเงินเพื่อเป็นการคุ้มครองผลประโยชน์ของสมาชิกสหกรณ์และป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อประชาชนโดยทั่วไปและระบบเศรษฐกิจของประเทศ

ทั้งนี้ ภาครัฐยังได้ส่งเสริมให้สหกรณ์มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาปรับใช้ในการดำเนินงานของสหกรณ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ การให้บริการสมาชิก เพื่อความโปร่งใส และมีการตรวจสอบการดำเนินงานในสหกรณ์โดยสมาชิกสหกรณ์ รวมทั้งยังมีนโยบายในการจัดตั้งสหกรณ์ที่มีคุณภาพ โดยการควบรวมสหกรณ์ขนาดเล็กให้เป็นสหกรณ์ขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพ ส่งเสริมสหกรณ์ที่มีอยู่ให้เติบโตขึ้น ไปจนถึงการพัฒนาบุคลากรและเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ให้มีความรู้ ทักษะในการลงปฏิบัติงานในพื้นที่ ยกระดับความเข้มแข็ง การมีธรรมภิบาล เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของสมาชิกสหกรณ์ต่อไป

สำหรับการประชุมระดับรัฐมนตรีที่รับผิดชอบงานด้านสหกรณ์ของประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 11 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง (11th Asia Pacific Cooperative Minister’s Conference) ดังกล่าวข้างต้นนั้น กระทรวงเกษตรจอร์แดน (The Jordanian Ministry of Agriculture) สมาคมสหกรณ์จอร์แดน (The Jordanian Cooperative Corporation : JCC) และองค์กรสัมพันธภาพสหกรณ์ระหว่างประเทศ สำนักงานประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (International Cooperative Alliance for Asia and the Pacific : ICA-AP) ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดประชุม มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีสำหรับให้ผู้บริหารระดับสูงจากภาครัฐที่รับผิดชอบงานด้านสหกรณ์และขบวนการสหกรณ์ของประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ได้ร่วมประชุมกำหนดนโยบายแนวทางความร่วมมือเพื่อการพัฒนาสหกรณ์ในภูมิภาคให้เป็นองค์กรที่เข้มแข็งสามารถปรับบทบาทให้ทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบัน ผู้เข้าร่วมการประชุมฯ ประกอบด้วย รัฐมนตรีที่รับผิดชอบหรือผู้แทนหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลงานด้านสหกรณ์ระดับชาติของประเทศ และสมาชิกองค์กร ICA-AP มีหัวข้อหลักในการประชุม คือ “การเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและขบวนการสหกรณ์เพื่อความสามารถในการปรับตัวของภาคสหกรณ์ การพัฒนาอย่างยั่งยืนและการเติบโตอย่างมีส่วนร่วมด้านสหกรณ์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ” (Partnerships between Government and Cooperatives for Cooperative Resilience, Sustainable Development, and Inclusive Growth in Asia Pacific, Middle East, and North Africa region) และการนำเสนอบทบาท/งานวิจัยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนางานสหกรณ์ในหลายประเทศด้วย

โอกาสนี้ อธิบดีฯ วิศิษฐ์ และคณะ ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนสมาคมสหกรณ์การเกษตร Kanz al- Ard (Kenz al-Ard agriculture cooperative society) และสหกรณ์สตรี Najda เพื่อศึกษาเรียนรู้การพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศจอร์แดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาอาชีพโดยใช้กลไกของระบบสหกรณ์ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนาและขยายความร่วมมือกันต่อไปในอนาคต