สุพรรณบุรี/ เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนและขบวนองค์กรชุมชน จ.สุพรรณบุรี จัดงาน ‘โครงการสนับสนุนส่งเสริมการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดสุพรรณบุรีแบบบูรณาการ’ ยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายและแผนพัฒนาภาคประชาชนระดับตำบล-อำเภอต่อจังหวัด โดย ผวจ.สุพรรณฯ รับปากจะนำแผนประชาชนไปดำเนินการในปีงบ 2563 ด้าน ‘เดชา ศิริภัทร’ ชูสุพรรณเป็นศูนย์กลางของโลกในการใช้กัญชารักษาโรค เตรียมระดมทุนสร้างโรงพยาบาลที่อำเภอด่านช้าง และเตรียมแจกน้ำมันกัญชา 1 แสนขวดให้ผู้ป่วยทั่วประเทศ 1 กันยายนนี้
วันที่ 21 สิงหาคม เวลา 9.00-16.00 น. มีการจัดงาน ‘โครงการสนับสนุนส่งเสริมการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดสุพรรณบุรีแบบบูรณาการ’ ประจำปีงบประมาณ 2562 ที่หอประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี (อบจ.) จัดโดยเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนและขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดสุพรรณบุรี ภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการต่างๆ และผลิตภัณฑ์จากชุมชน มีนายนิมิต วันไชยธนวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นประธาน โดยมีนายปฏิภาณ จุมผา ผู้อำนวยการสำนักงานภาคกลางและตะวันตก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และนายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญให้การต้อนรับ มีภาคีเครือข่ายการพัฒนา 18 เครือข่าย และผู้แทนชุมชนในอำเภอต่างๆ เข้าร่วมงานประมาณ 350 คน
นายนิมิต วันไชยธนวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า การจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ภาคประชาชนจะไม่มีส่วนร่วม เพราะเป็นการจัดทำแผนโดยหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัด แต่ในครั้งนี้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมและบูรณาการการจัดทำแผนร่วมกับหน่วยงานต่างๆ โดยใช้เวลาจัดทำแผนประมาณปีเศษ และมานำเสนอแผนในวันนี้ ซึ่งทางจังหวัดจะนำไปปฏิบัติเพื่อให้ตรงกับความต้องการของประชาชน
“ถ้าภาคประชาชนกับราชการจับมือกันและเดินไปด้วยกันก็จะทำให้บ้านเมืองเจริญก้าวหน้า และต่อไปหากมีโครงการพัฒนาต่างๆ ตนจะตั้งคณะทำงานที่มาจากภาคประชาชนด้วย เพื่อให้เสนอความคิดเห็นต่างๆ ในที่ประชุม ซึ่งจะทำให้มีมิติและมุมมองที่หลากหลาย ส่วนข้อเสนอจากภาคประชาชนที่ยื่นต่อผู้ว่าราชการจังหวัดในวันนี้ ผมจะนำไปปฏิบัติให้เป็นจริงในปีงบประมาณ 2563” ผู้ว่าฯ จ.สุพรรณบุรีกล่าว
นางสาววิภาศศิ ช้างทอง อนุกรรมการประสานงานขบวนองค์กรชุมชนภาคกลางและตะวันตก กล่าวถึงข้อเสนอเชิงนโยบายที่เสนอต่อ ผวจ.สุพรรณบุรี และหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งมีทั้งหมด 12 ข้อ เช่น 1.ขอให้ ผวจ.สุพรรณบุรีนำแผนพัฒนาภาคประชาชน จ.สุพรรณบุรีไปบรรจุในแผนพัฒนาจังหวัด และให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการที่มาจากตัวแทนภาคประชาชนทั้ง 10 อำเภอ (อำเภอละ 1 คน) เช่น คณะกรรมการจัดการภัยพิบัติจังหวัด คณะกรรมการบริหารแบบบูรณาการจังหวัด ฯลฯ 2.สนับสนุนให้มีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานภาคประชาชนจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาคีทั้งภาครัฐและเอกชน 3.สนับสนุนบุคลากรและงบประมาณในการประชุมระดับจังหวัดของสภาองค์กรชุมชนตำบล 4.ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีผู้แทนของสภาองค์กรชุมชนตำบลเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้เป็นจริง เพื่อให้เกิด ‘1 แผน 1 ตำบล’ ร่วมกับหน่วยงานในระดับพื้นที่อย่างมีคุณภาพ 5.สนับสนุนและส่งเสริมให้มีการแก้ไขปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัยอย่างยั่งยืนแบบมีส่วนร่วม เช่น สนับสนุนกลไกกระบวนการแก้ไขปัญหาที่ดินอย่างบูรณาการ และแก้ไขปัญหาการใช้ที่ดินของรัฐให้กับผู้เดือดร้อนเรื่องที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย การขออนุญาตใช้ที่ดินและสนับสนุนสาธารณูปโภคเพื่อจัดทำโครงการบ้านมั่นคง 6.ส่งเสริมการจัดสวัสดิการชุมชน การสมทบงบประมาณของท้องถิ่น 7.ส่งเสริมให้เครือข่ายองค์กรชุมชนร่วมกับหน่วยงานด้านสังคมพัฒนาศักยภาพผู้นำชุมชน พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงวัย เด็ก เยาวชน สตรี ผู้พิการ ด้อยโอกาส ฯลฯ ทั้งในระดับหมู่บ้านถึงจังหวัด 8.ส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์ พัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมและครบวงจร 9.ส่งเสริมและสนับสนุนเครือข่ายป่าพลเมืองแบบมีส่วนร่วมและยั่งยืน 10.ส่งเสริมและสนับสนุนกลไกการสื่อสารให้เกิดการทำงานแบบมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน 11.ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุนการพัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานรากตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างต่อเนื่อง และ 12.การสนับสนุนและส่งเสริมการอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมและชาติพันธุ์
ส่วนแผนพัฒนายุทธศาสตร์ภาคประชาชนจังหวัดสุพรรณบุรีระยะ 5 ปี (พ.ศ.2561-2556) มีเป้าหมาย คือ “ชุมชนเข้มแข็ง มีคุณภาพชีวิตที่ดี ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” มีประเด็นพัฒนาต่างๆ เช่น 1.การบริหารจัดการให้องค์กรชุมชนมีความเข้มแข็ง มีการพัฒนาผู้นำชุมชน 114 พื้นที่ รวม 900 คน 2.การพัฒนาระบบเศรษฐกิจชุมชน เช่น พัฒนาคนรุ่นใหม่ ยกระดับความรู้ด้านการผลิต การแปรรูป การจำหน่าย ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน ฯลฯ เป้าหมาย 110 ตำบล 3.การพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน เช่น ส่งเสริมสุขภาพชุมชนสู่สังคมสุขภาวะ การบริโภคอาหารปลอดภัย ส่งเสริมความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน ฯลฯ มีเป้าหมาย ประชาชนไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมดมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น และ 4.การบริหารจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมชุมชน เช่น อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน ส่งเสริมการประยุกต์ใช้พลังงานสะอาด ฯลฯ เป้าหมาย เกิดการบริหารจัดการป่าชุมชนอย่างเป็นระบบไม่น้อยกว่า 12 ชุมชน เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายกลไกบริหารจัดการน้ำไม่น้อยกว่า 3 เครือข่าย
นอกจากนี้ยังมีแผนพัฒนาอำเภอต่างๆ ที่ภาคประชาชนจัดทำขึ้นมา แยกเป็นแผนพัฒนาอำเภอ และแผนพัฒนาตำบล เช่น แผนพัฒนาอำเภอศรีประจันต์ แก้ไขปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ แก้ไขปัญหาระบบชลประทาน ฯลฯ แผนพัฒนาตำบลศรีประจันต์ มีปัญหาผลผลิตทางการเกษตรราคาตกต่ำ แก้ไขโดยการคัดเกรดผลผลิตเพื่อให้ขายได้ราคาดี ปัญหาการขาดแคลนน้ำ ทำบ่อเก็บน้ำ ปัญหาต้นทุนการผลิตสูง ใช้สารชีวภาพที่ผลิตเองแทนสารเคมี ปลูกพืชตามสภาพอากาศ ฯลฯ
นายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ ผู้รณรงค์การใช้กัญชารักษาโรค กล่าวว่าตนสนับสนุนแผนการพัฒนาของภาคประชาชนเพราะตรงกับความต้องการที่แท้จริงของประชาชน ไม่ใช่มีคนอื่นมาจัดทำแผนให้ โดยประชาชนไม่มีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ ซึ่งในส่วนของการพัฒนาจังหวัดสุพรรณบุรีนั้น ตนอยากจะพัฒนาให้สุพรรณบุรีเป็นเมืองท่องเที่ยว เพราะมีข้าวอินทรีย์ มีอาหารปลอดภัย และมีกัญชาเป็นยารักษาโรค โดย ‘แอ๊ด คาราบาว’ กำลังจะหาทุนสร้างโรงพยาบาลเพื่อให้เป็นแหล่งรักษาโรคต่างๆ จากกัญชา เช่น มะเร็ง อัลไซเมอร์ โรคไมเกรน โรคซึมเศร้า โรคสะเก็ดเงิน ฯลฯ
“โรงพยาบาลแห่งนี้จะใช้พื้นที่ประมาณ 200 ไร่ ตั้งอยู่ที่อำเภอด่านช้าง ตอนนี้ได้ที่ดินแล้ว 70 ไร่ ต่อไปเราจะพัฒนาให้เป็นโรงพยาบาล มีพิพิธภัณฑ์กัญชา มีพื้นที่ปลูกกัญชา เพื่อนำกัญชามาสกัดทำเป็นยา เพื่อรักษาโรคต่างๆ มีการวิจัยเพิ่มเติม สามารถนำกัญชามาเป็นส่วนผสมของอาหาร เครื่องสำอาง และจะใช้กัญชารักษาโรคฟรี ซึ่งจะทำให้มีนักท่องเที่ยวแห่เข้ามา ทำรายได้ให้คนสุพรรณ และจะทำให้จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นศูนย์กลางของโลกในการใช้กัญชารักษาโรค” นายเดชากล่าว และบอกว่า ในวันที่ 1 กันยายนนี้ตนจะแจกน้ำมันกัญชาจำนวน 1 แสนขวดให้แก่ผู้ป่วยทั่วประเทศประมาณ 40,000 คน เป็นกัญชาที่นำมาจากองค์การเภสัชกรรม