ทส. ลงนามความร่วมมือทางวิชาการด้านความหลากหลายทางชีวภาพระหว่างไทยและฝรั่งเศส เพื่อสร้างความเป็นหุ้นส่วนด้านสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ และการคุ้มครองชนิดพันธุ์

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2567 พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบหมายให้ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมลงนามหนังสือแสดงเจตจำนงการเจรจาทวิภาคีว่าด้วยสิ่งแวดล้อม  ความหลากหลายทางชีวภาพและการคุ้มครองชนิดพันธุ์ (Letter of intent on the establishment of a bilateral dialogue on the environment, biodiversity and species protection) ระหว่างไทยและฝรั่งเศส กับนายฌ็อง-โกลด ปวงเบิฟ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ประจำประเทศไทย ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 อาคารทิปโก้ 1 ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ โดยมีคณะผู้บริหารในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ และสถานทูตเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ประจำประเทศไทยร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีการลงนามฯ

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ กล่าวสุนทรพจน์แสดงความยินดีที่ได้รับมอบหมายจากพลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ลงนามความร่วมมือทวิภาคีว่าด้วยสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพและการคุ้มครองชนิดพันธุ์ ซึ่งปรียบเสมือนหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ทั้งสองประเทศจะสร้างความเป็นหุ้นส่วนด้านสิ่งแวดล้อม และบูรณาการเชิงนโยบายร่วมกันผ่านกิจกรรมความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมเพื่อมุ่งไปสู่การบรรลุเป้าหมายระดับชาติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ อาทิ อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ความตกลงปารีส และวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030

การเจรจาทวิภาคีว่าด้วยสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพและการคุ้มครองชนิดพันธุ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกลไกเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือและบูรณาการเชิงนโยบายระหว่าง ประเทศไทยและฝรั่งเศสผ่านโครงการความร่วมมือใน 2 ประเด็นหลัก คือ ความหลากหลายทางชีวภาพกับสภาพภูมิอากาศ และการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นการดำเนินงานร่วมกันระหว่างกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ราชอาณาจักรไทย และกระทรวงการเปลี่ยนผ่านทางนิเวศวิทยาและความเป็นปึกแผ่นแห่งดินแดน สาธารณรัฐฝรั่งเศส ทั้งนี้ ทั้งสองประเทศอยู่ระหว่างจัดทำแผนและแนวทางการดำเนินงานเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนภายใต้การเจรจาทวิภาคีดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมและเกิดประโยชน์สูงสุด