วันที่ 30 เมษายน 2567 รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 4/2567 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2567 โดยมี พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้มีมติสำคัญในหลายประเด็น
ประเด็นแรกคือ ที่ประชุมได้เห็นชอบแนวทางการบริหารงานบุคคลสำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้เล็งเห็นความสำคัญในบทบาทของศึกษานิเทศก์ โดยในปัจจุบันมีผู้ที่สนใจเข้ามาในวิชาชีพศึกษานิเทศก์ลดลงอย่างมาก ทำให้ส่งผลต่อการพัฒนาวิชาการในสถานศึกษาในภาพรวมทุกสังกัด จึงเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่กระทรวงศึกษาธิการต้องเร่งแก้ไขปัญหา โดยสำนักงาน ก.ค.ศ. ได้รับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ศึกษาและวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้น และจัดทำแนวทางการบริหารงานบุคคลสำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการขึ้น โดยหลังจากที่ประชุม ก.ค.ศ. ได้มีมติเห็นชอบแนวทางฯ ดังกล่าวแล้ว ก็จะนำไปสู่การปรับมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะ ปรับหลักเกณฑ์การคัดเลือก การกำหนดหลักเกณฑ์การพัฒนาก่อนแต่งตั้ง และการปรับโครงสร้างอัตรากำลัง ถือได้ว่าเป็นการพลิกโฉมวิชาชีพศึกษานิเทศก์ครั้งใหญ่ เพื่อให้ได้บุคลากรที่มีคุณภาพเข้าสู่ระบบการศึกษา มีความเป็นผู้นำทางวิชาการ มีประสบการณ์และสมรรถนะในการนิเทศการศึกษา นำไปสู่การพัฒนาปรับปรุงคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
ประเด็นต่อมาคือ การเห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ประเด็นดังกล่าวสำนักงาน ก.ค.ศ. ได้สำรวจและรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับระยะเวลาในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และนำข้อมูลมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ และจัดทำ (ร่าง) หลักเกณฑ์นี้ขึ้นใหม่ โดยมีสาระสำคัญ อยู่ที่การปรับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของผู้ขอย้าย จากเดิม 12 เดือน (1 ปี) เป็น “ต้องดำรงตำแหน่งในสถานศึกษาปัจจุบันไม่น้อยกว่า 24 เดือน (2 ปี)” โดยให้นับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งถึงวันที่ 30 กันยายน ของปีที่ยื่นคำร้องขอย้ายประจำปี ซึ่งการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารฯ ในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อลดปัญหาเรื่องการโยกย้ายบ่อยครั้ง ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาเรื่องความต่อเนื่องในการบริหารสถานศึกษา และเพื่อให้ผู้บริหารมีระยะเวลาในการพัฒนาสถานศึกษาได้ตามแผนพัฒนาสถานศึกษา ส่วนราชการสามารถบริหารอัตราตำแหน่งว่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในสถานศึกษาได้อย่างเป็นรูปธรรม เกิดประโยชน์ต่อนักเรียน ครู ชุมชน และเพื่อประโยชน์สูงสุดของทางราชการ
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้เห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้หารือกับสำนักงาน ก.ค.ศ. เพื่อร่วมกันวางแนวทางในการปรับหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกฯ ใหม่ ให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับบริบทสังคมปัจจุบัน และสอดคล้องกับนโยบายด้านการศึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยที่ประชุม ก.ค.ศ. มีมติเห็นชอบ และ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการฯ ดังกล่าว โดยมีสาระสำคัญที่ได้แก้ไขเพิ่มเติม โดยสรุป คือ ด้านคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครคัดเลือก แบ่งเป็น กลุ่มทั่วไป และเพิ่มเติมอีกหนึ่งกลุ่ม คือ กลุ่มประสบการณ์ ซึ่งต้องเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในสายงานบริหารการศึกษา มาแล้วไม่น้อยกว่า 4 ปี โดยพิจารณาเฉพาะการเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในสายงานบริหารการศึกษาเท่านั้น ไม่ให้นําการรักษาการในตำแหน่งดังกล่าวมานับรวม
และปรับหลักสูตรการคัดเลือกและเกณฑ์การตัดสิน โดยแบ่งเป็น 3 ภาค คือ ภาค ก ความรอบรู้เกี่ยวกับการบริหารงานในหน้าที่ และความสามารถในการวิเคราะห์กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานและการนำไปใช้ ภาค ข การประเมินสมรรถนะทางการบริหาร โดยให้สถาบันอุดมศึกษาหรือหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาชีพทางการบริหารการศึกษา และมีประสบการณ์ในการดำเนินการเกี่ยวกับการประเมินสมรรถนะทางการบริหารเป็นผู้ดำเนินการประเมิน ภาค ข สำหรับการขึ้นบัญชีจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มทั่วไป และกลุ่มประสบการณ์ โดยกำหนดระยะเวลาขึ้นบัญชีไม่เกินหนึ่งปี นอกจากนี้ยังได้ยกเลิกการประเมินสัมฤทธิผลการปฏิบัติงานในหน้าที่เพื่อพัฒนาการศึกษา เป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อลดความซ้ำซ้อน เนื่องจากข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกตำแหน่งต้องประเมินผลการพัฒนางานตามข้อตกลง (PA) อยู่แล้ว