ส่งออกเดือน มี.ค. กลับมาหดตัว 10.9% จากผลของฐานสูงในปีก่อนเป็นสำคัญ

Key Highlights

  • ส่งออกเดือน มี.ค. พลิกกลับมาหดตัว 10.9%YoY ติดลบครั้งแรกในรอบ 8 เดือน จากผลของฐานที่สูงในปีก่อนหน้า ประกอบกับสภาพอากาศแปรปรวนทำให้สินค้าเกษตรออกสู่ตลาดล่าช้า โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัว ขณะที่สินค้าเกษตรขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ส่วนการนำเข้าเติบโตเร่งขึ้นที่ 5.6%YoY ส่งผลให้ดุลการค้าเดือน มี.ค. ขาดดุลติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ที่ระดับ 1,3 ล้านดอลลาร์ฯ
  • คาดว่าการส่งออกทั้งปียังมีแนวโน้มขยายตัวได้ 1.8% ท่ามกลางความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น จากภาคการผลิตในประเทศเศรษฐกิจหลักที่ยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวชัดเจน โดยเครื่องชี้ภาคการผลิตเดือน เม.ย. ของสหรัฐฯและญี่ปุ่นอยู่ในภาวะทรงตัว ขณะที่ยุโรปยังหดตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ทั้งความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และปัญหาความไม่สงบในเมียนมาถือเป็นความเสี่ยงต่อการส่งออกไทย

ชนม์นิธิศ ไชยสิงห์ทอง

Krungthai COMPASS

มูลค่าส่งออกเดือนมีนาคม 2567 พลิกกลับมาหดตัว 10.9%

มูลค่าส่งออกเดือน มี.ค. อยู่ที่ 24,960.6 ล้านดอลลาร์ฯ ติดลบ 10.9%YoY พลิกกลับมาหดตัวครั้งแรกในรอบ 8 เดือน จากผลของฐานที่สูงในเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า นอกจากนี้สภาพอากาศที่แปรปรวนทำให้สินค้าเกษตรออกสู่ตลาดล่าช้า ส่งผลให้การส่งออกสินค้าหมวดอุตสาหกรรมและสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรหดตัว ขณะที่สินค้าเกษตรขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง สำหรับการส่งออกทองคำกลับมาหดตัว -75.0% ทำให้เมื่อหักทองคำแล้วมูลค่าส่งออกเดือนนี้หดตัว -7.1% ทั้งนี้การส่งออกไตรมาสแรกของปี 2567 หดตัว -0.2%YoY

ด้านการส่งออกรายสินค้าส่วนใหญ่หดตัว

  • การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมติดลบ 12.3%YoY กลับมาหดตัวครั้งแรกในรอบ 6 เดือน หลังจากเดือนก่อนขยายตัว 5.2%YoY โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (-4%) สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน (-10.5%) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (-11.8%) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (-12.7%) และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด (-16.1%) เป็นต้น อย่างไรก็ดี สินค้าสำคัญบางรายการที่ขยายตัว ได้แก่ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ (+4.0%) และไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ (+3.9%) เป็นต้น ทั้งนี้การส่งออกไตรมาสแรกหดตัว -0.3%
  • การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวต่อเนื่องที่ -5.1%YoY จากเดือนก่อน
    -1.1%YoY
    ตามการหดตัวต่อเนื่องของสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่ -9.9%YoY ขณะที่สินค้าเกษตรเติบโต +1%YoY สินค้าส่งออกสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (-16.7%) น้ำตาลทราย (-45.6 %) ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง (-38.7%) และไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ (-50.2%) เป็นต้น ขณะที่สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ข้าว (+30.6%) ยางพารา (+36.9%) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (+1.5%) อาหารสัตว์เลี้ยง (+29.6%) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป (+20.0%) และนมและผลิตภัณฑ์นม (+19.1%) เป็นต้น ทั้งนี้การส่งออกไตรมาสแรกขยายตัว 0.3%

ด้านการส่งออกรายตลาดสำคัญ

  • สหรัฐฯ : ขยายตัว 2.5%YoY เติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ ยางยานพาหนะ และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด เป็นต้น สำหรับสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องรับโทรศัพท์และอุปกรณ์ เป็นต้น (ส่งออกไตรมาสแรกขยายตัว 9.9)
  • จีน : หดตัวที่ -9.7%YoY ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง เคภัณฑ์และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ยางพารา ไม้แปรรูป และฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ เป็นต้น (ส่งออกไตรมาสแรกหดตัว 5.1)
  • ญี่ปุ่น : หดตัวที่ -19.3%YoY ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ไก่แปรรูป รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ และไก่สด/แช่เย็น/แช่แข็ง เป็นต้น (ส่งออกไตรมาสแรกหดตัว 9.0)
  • EU27 : กลับมาหดตัวที่ -0.1%YoY สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ รถยนต์ และอุปกรณ์และหม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ และอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น (ส่งออกไตรมาสแรกขยายตัว 2.4)
  • ASEAN-5 : หดตัวที่ -26.1%YoY สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์ และอุปกรณ์ น้ำมันสำเร็จรูป และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ข้าว แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นต้น (ส่งออกไตรมาสแรกหดตัว 5.2)

Implication:

  • มูลค่าการส่งออกเดือน มี.ค. หดตัว 10.9%YoY จากผลของฐานในปีก่อนเป็นสำคัญ โดยติดลบในรอบ 8 เดือน และเป็นการหดตัวสูงสุดในรอบ 15 เดือน อย่างไรก็ตามการหดตัวที่สูงในเดือน มี.ค. เป็นผลจากฐานสูงในช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อนเป็นสำคัญ ส่งผลให้สินค้าสำคัญหลายรายการหดตัว อาทิ ทองคำ ยานพาหนะ เครื่องใช้ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น ประกอบกับปัญหาสภาพภูมิอากาศทำให้การส่งออกผลไม้หดตัว เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สินค้าสำคัญบางรายการหดตัวเนื่องจากการส่งออกที่ยังฟื้นตัวได้ช้า ได้แก่ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ ซึ่งคาดว่าสินค้าเหล่านี้ยังคงเป็นปัจจัยกดดันการส่งออกในระยะข้างหน้า

  • Krungthai COMPASS ประเมินว่าการส่งออกจะยังฟื้นตัวได้ท่ามกลางความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น เรายังคงประเมินว่าการส่งออกในปีนี้มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวได้ที่ 1.8% อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวของการส่งออกมีความเสี่ยงมากขึ้น สะท้อนจากภาคการผลิตของประเทศเศรษฐกิจหลักManufacturing PMI ในเดือน เม.ย. ยังอยู่ในภาวะทรงตัวทั้งสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ขณะที่ยุโรปยังคงหดตัวต่อเนื่องจากอุปสงค์ที่ชะลอตัว นอกจากนี้ ปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์มีความเสี่ยงมากขึ้นจากทั้งความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ขยายวงกว้างไปสู่การโจมตีระหว่างอิสราเอล-อิหร่าน ซึ่งอาจกระทบต่อการส่งออกสินค้าหากการสู้รบกลับมารุนแรงและลากยาว และปัญหาความไม่สงบในเมียนมาที่อาจกระทบต่อการค้าชายแดนโดยเฉพาะด่านแม่สอดซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกสูงถึง 61.8% ของมูลค่าการส่งออกไปเมียนมาทั้งหมด