กรมควบคุมโรคเผยสถานการณ์ “โควิด 19” สัปดาห์ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น ยังเป็นไปตามคาดการณ์ เนื่องจากเป็นโรคประจำถิ่น พบผู้ป่วยได้ตลอดปีและระบาดตามฤดูกาล พบผู้ป่วยมากขึ้นช่วงสงกรานต์ต่อเนื่องถึงฤดูฝน ที่มีการเปิดเทอม เหตุเชื้อไม่รุนแรง อาการเหมือนหวัดทั่วไป ทำให้การป้องกันตัวลดลง ย้ำมีอาการให้ตรวจ atk สวมหน้ากากอนามัย ป้องกันนำเชื้อเข้าสู่บ้านติดกลุ่มเปราะบาง 608 ที่อาจมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้
วันที่ 27 เมษายน 2567 นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ของโรคโควิด 19 มอบหมายกรมควบคุมโรคติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์ต่อเนื่อง พร้อมกำชับทุกหน่วยงานดำเนินการตามมาตรการอย่างเคร่งครัด โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (วันที่ 21 – 27 เมษายน 2567) พบผู้ป่วยโรคโควิด 19 ที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลจำนวน 1,672 ราย เฉลี่ย 239 รายต่อวัน ผู้ป่วยปอดอักเสบ 390 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 148 ราย และมีผู้เสียชีวิต 9 ราย เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน (วันที่ 14 – 20 เมษายน 2567) พบว่า ผู้ป่วยโรคโควิด 19 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ยังเป็นไปตามคาดการณ์ เนื่องจากโรคโควิด 19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น สามารถพบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี และยังเป็นโรคประจำฤดูกาล โดยจะพบผู้ป่วยมากขึ้นตั้งแต่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ต่อเนื่องจนถึง
ฤดูฝนที่กำลังจะถึงนี้และจะเป็นช่วงเปิดเทอมด้วย ไม่ต่างจากโรคทางเดินหายใจอื่นๆ ทั้งไข้หวัดใหญ่ โรคติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี เป็นต้น แต่ความรุนแรงของโรคโควิด 19 ลดลงอย่างมาก จากการวิเคราะห์ข้อมูลติดตามย้อนหลังในช่วง 3 – 4 ปีที่ผ่านมาพบว่าอัตราป่วยตายของโรคโควิด 19 ลดลงจาก 0.98% (ปี 2563 – 2564) เป็น 0.04% (ปี 2567) ซึ่งใกล้เคียงกับไข้หวัดใหญ่ และต่ำกว่าไข้เลือดออก
นายแพทย์ธงชัย กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีองค์ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้มากขึ้น มีการตรวจวินิจฉัยที่ดีขึ้น มียารักษาทั้งยาแผนปัจจุบันและยาสมุนไพรต่างๆ รวมทั้งมีวัคซีนป้องกันโรค ประกอบกับสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด 19 ซึ่งปัจจุบันคือสายพันธุ์ย่อยของ XBB.1 ซึ่งเป็นลูกหลานของโอมิครอน อาการไม่รุนแรง เป็นเหมือนหวัดธรรมดาทั่วไป ซึ่งจุดนี้เองอาจทำให้ประชาชนไม่ได้ระวังจึงแพร่เชื้อต่อกันได้ง่าย สิ่งสำคัญคือต้องระมัดระวังไม่นำเชื้อไปสู่กลุ่มเสี่ยง ซึ่งจากข้อมูลผู้เสียชีวิตทุกรายยังพบว่า เป็นกลุ่ม 608 โดยเฉพาะผู้สูงอายุหรือมีโรคประจำตัวเรื้อรัง ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนมีความตระหนักแต่ไม่ตระหนก โดยประชาชนทั่วไปควรเน้นสุขอนามัยส่วนบุคคล สวมหน้ากากอนามัย เมื่ออยู่ในสถานที่แออัด หรือที่ที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก เช่น ในการเดินทางสาธารณะ ที่โรงพยาบาล และสถานที่ดูแลผู้สูงอายุ และหมั่นล้างมือบ่อยๆ หากมีอาการคล้ายหวัด ควรทำการตรวจ ATK และหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับกลุ่มเสี่ยง 608 หากผลตรวจเป็นบวก 2 ขีด ให้สวมหน้ากากเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อและพบแพทย์โดยเร็วเมื่อมีอาการหายใจลำบากหรืออื่นๆ เพื่อป้องกันการนำเชื้อไปแพร่สู่กลุ่มเปราะบางในบ้าน สำหรับกลุ่ม 608 หากมีอาการคล้ายหวัด และผลตรวจ ATK เป็นบวก 2 ขีด ควรสวมหน้ากากและรีบพบแพทย์ เพื่อรับการรักษา เพื่อลดโอกาสในการเกิดอาการรุนแรง
ประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจติดตามข้อมูลสถานการณ์โรค ทั้งโรคโควิด 19 และโรคติดต่อในระบบเฝ้าระวังต่างๆ ปัจจุบัน กรมควบคุมโรค มีระบบ Digital Disease Surveillance (DDS) ซึ่งเป็นข้อมูลเปิดที่ทุกคนสามารถนำไปใช้ได้ ซึ่งสามารถเข้าไปค้นหาข้อมูลได้ในเว็บไซต์กรมควบคุมโรค หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อสายด่วนของกรมควบคุมโรคได้ที่ 1422